Wednesday 17 May 2017

พระจอมเกล้าธนบุรี. เป็นเลิศหลังออกนอกระบบ สร้างโรงผลิตยาชีววัตถุช่วยชาติยามสงคราม

พระจอมเกล้าธนบุรี  เป็นเลิศหลังออกนอกระบบ สร้างโรงผลิตยาชีววัตถุช่วยชาติยามสงคราม








เปิดผลสัมฤทธิ์ของมหา'ลัยออกนอกระบบ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” ที่ใช้เวลากว่า 17 ปีพัฒนาจนได้รับยกย่องเป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ พร้อมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดจากผลงานวิจัย ดึงความรู้ด้าน Process Engineering สร้างโรงงานผลิตยาชีววัตถุ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตวัคซีนแห่งแรกของประเทศไทย ถือเป็น “National security” ให้กับประเทศไทยในยามวิกฤตหรือยามสงคราม ทั้งที่ไม่มีคณะแพทย์-เภสัชฯ รวมไปถึงด้าน “Bio Technology - Food Science -Renewable Energy” ที่สามารถต่อยอดอุตสาหกรรมให้กับประเทศ ชี้การออกนอกระบบทำให้เกิดการพัฒนาที่เป็นเลิศ
       
       เมื่อช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวการเคลื่อนไหวต่อต้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบผุดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ....ซึ่งมีสาระสำคัญที่ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่ยังคงอยู่ในกำกับของรัฐ หรือที่เรียกกันว่ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
       
       ในการต่อต้านนั้นบรรดากลุ่มนิสิต นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จ่อคิวจะถูกเปลี่ยนให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น เพราะต่างเชื่อว่ามหาวิทยาลัยของรัฐจะเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ค่าเทอมนักศึกษาก็จะแพงขึ้น ส่วนบุคลากรก็จะเปลี่ยนจากฐานะข้าราชการ ไปเป็นพนักงาน สิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ต่างๆ ก็จะหมดไป โดยเฉพาะบรรดาคณาจารย์ ที่เคยทำหน้าที่สอนแต่ไม่เคยเพิ่มพูนความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา ก็กลัวที่จะถูกประเมินผลงานและในที่สุดก็จะไม่ได้ต่อสัญญา
       
       ออกนอกระบบดีจริงหรือ?
       
       อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงแล้ว ได้มีสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยหลายแห่งเสนอตัวขอออกนอกระบบหรือเป็นเพียงมหาวิทยาลัยในการกำกับของรัฐมานับสิบปีแล้ว เพราะผู้บริหารสถาบันต่างเชื่อว่าการออกนอกระบบจะทำให้การบริหารสถาบันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องของคุณภาพบุคลากร การเรียนการสอน รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาที่จะสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับประเทศชาติได้ดีกว่าการเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ
       
       “ในอดีตมหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้ช้าเพราะการเมือง ที่ผ่านมารัฐบาลบางยุคไม่อยากให้เปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพราะนักการเมืองอยากจะเข้าไปควบคุม มีบทบาทในมหาวิทยาลัย หากมีการเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทั้งหมด มหาวิทยาลัยก็จะเป็นอิสระทำให้รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้” แหล่งข่าวในแวดวงการศึกษา ระบุ
       
       ทั้งที่ความเป็นจริงการมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ คือ การนำความเป็นระบบราชการออกไป เพื่อให้เกิดอิสระและคล่องตัวกับมหาวิทยาลัยในด้านการบริหารจัดการงานอย่างเบ็ดเสร็จในตัวเอง เพราะจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่การแปรรูปมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ดังที่มีการต่อต้าน
       
       “การจะขึ้นค่าเทอมของมหาวิทยาลัย จะเป็นไปตามภาวะเงินเฟ้อ เรามีขั้นตอนการปรับค่าเทอม มีเหตุผลในการปรับ และต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่กรรมการทรัพย์สิน และการเงิน ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาการปรับขึ้นค่าเทอม จากนั้นจะนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ทั้งหมดนี้ต้องสะท้อนต้นทุนออกมา หากว่าไม่มีเหตุมีผล สภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นคนนอกจะไม่อนุญาตให้ขึ้นค่าเทอมแน่นอน”
       
       ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่งที่เปลี่ยนแปลงสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ที่ประสบความสำเร็จ โดยกลุ่มแรกที่ตั้งขึ้นมานำร่อง คือ มหาวิทยาลัยสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต่อมาที่เปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ.
       
       หลังจากนั้นที่ออกมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่ง 5 แห่งในนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับเลือกให้เป็น มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (NATIONAL RESEARCH UNIVERSITY) จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยกลุ่มนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยที่โดดเด่น
       
       ยุคถัดมา คือ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา ฯลฯ ส่วนมหาวิทยาลัยที่ออกมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ล่าสุด ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
       
       “ทุกมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบก็คงต้องเฝ้ามองดูความสำเร็จซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี”
       
       ดังนั้นหลายฝ่ายต่างคาดหวังกันว่าหากมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบทั้งหมดจะสามารถช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศให้ดีขึ้น โดยเฉพาะสามารถลดการเหลื่อมล้ำของคนในสังคมที่จะสามารถขับเคลื่อนประเทศนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนได้ในอนาคต
       
       มจธ.ได้คนมีคุณภาพ-เด่นวิจัย
       
       ทีม SPECIAL SCOOP ได้รับการบอกเล่าจากอาจารย์ธนิตสรณ์ จิระพรชัย รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่โดดเด่นทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเป็นมหาวิทยาลัยที่เสนอตัวออกนอกระบบในยุคแรกๆ ว่ากว่าจะประสบความสำเร็จต้องใช้ความพยายามมากกว่า 10 ปี
       
       โดยหลังจากที่ มจธ.เข้ามาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 17 ปี ในช่วง 5-7 ปีแรกเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวค่อนข้างมาก มีการปรับระบบภายใน ปรับเรื่องคน บุคลากร ซึ่งช่วงนี้มีการเติบโตค่อนข้างช้ามาก และในช่วงปีที่ 10 ถึงจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะ 1 ใน 9 ของมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ในปัจจุบันเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยมีอัตราการเติบโต โดยพยายามจะสร้างนวัตกรรมทั้งการเรียนการสอนและงานวิจัย เพื่อสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน
       
       สำหรับการออกนอกระบบนั้น ได้สร้างโอกาสพัฒนาในด้านบุคลากร ระบบการบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น ทำให้มีโอกาสทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยกลไกของรัฐเอง แต่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ “คน” ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่เรียกว่า Government Service ซึ่งเหมาะสำหรับงานให้บริการที่ซ้ำๆ จะเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการเหมือนกันทุกครั้งนั้นอันนี้คือราชการ 

image: http://files.unigang.com/pic/4/7224.jpg
“มจธ.” เป็นเลิศหลังออกนอกระบบ สร้างโรงผลิตยาชีววัตถุช่วยชาติยามสงคราม
อาจารย์ธนิตสรณ์ จิระพรชัย รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

       


          “แต่งานมหาวิทยาลัยต้องการให้คนคิดเรื่องใหม่ๆ เพราะฉะนั้นเรากำลังเอาระบบการจ้างคนที่ให้คนทำงาน Service มาจ้างคนให้คิดเรื่องใหม่ๆ กับงานนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ยังสามารถข้าม 2 อุปสรรค และข้อจำกัดของเรื่อง “คน” และความไม่มีประสิทธิภาพของการใช้ “เงิน” ไปได้”
      
       ขณะที่ก่อนจะออกนอกระบบการบริหารคนของมหาวิทยาลัยของรัฐต้องเป็นไปตามระเบียบของรัฐ ซึ่งไม่สามารถดึงคนเก่งคนดีมาอยู่กับมหาวิทยาลัยได้ แต่ด้วยสถานะที่เปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยกำกับของรัฐมีโอกาสในการวางแผน สามารถจะมีโครงสร้างเงินเดือนที่เหมาะสม ในการจะดึงคนเก่งมาอยู่ได้ เพราะระบบเปิดโอกาสให้คนได้แสดงความสามารถและเราตอบแทนตามความสามารถของเขา
      
       “แต่ในระบบราชการถ้ารับเป็นเงินเดือนก็จะเป็นระบบที่ตายตัว ยกตัวอย่างทำดีสูงสุดก็จะได้ที่สองขั้น ทำไม่ดีอย่างไรก็หนึ่งขั้น ซึ่งไม่ดึงดูดให้คนอยู่ทำงานเพราะกลไกการประเมินของระบบราชการ ขั้นในการเปรียบเทียบระหว่างผลงานที่ดีกับไม่ดีนั้นจึงไม่แตกต่างกันมากนัก”
      
       แต่ในทางกลับกันมหาวิทยาลัยกำกับของรัฐจะมีการตอบแทนด้วยระบบการประเมินผลงาน กล่าวคือจะมีการตอบแทนกันเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่นนาย ก. มีคุณภาพดีอาจจะได้ 7% อีกคนนาย ข. ดีใกล้เคียงกันอาจจะได้ 6.5% จะเห็นว่าเราตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ได้โดยไม่ไปผูกอยู่กับขั้นแบบระบบราชการ จะทำให้คนมีกำลังใจในการทำงาน และสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับองค์กรได้
      
       สำหรับในรื่อง “งบประมาณ” ซึ่งอยู่ระบบเดิม หากรัฐให้งบมาใช้ไม่หมดก็ต้องคืนกลับไป ขณะที่บางปีหากมหาวิทยาลัยต้องการสร้างอะไรที่เป็นระบบขนาดใหญ่ งบประมาณไม่เคยพอ ทุกๆ ปีต้องใช้งบประมาณให้หมดไม่เช่นนั้นก็ต้องคืนรัฐ
      
       ปัจจุบันแม้ว่าจะเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และรัฐยังคงสนับสนุนงบประมาณให้ก็ตาม แต่แนวโน้มการจัดสรรงบประมาณต่อหัวของเด็กมีงบที่ลดลง ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องทำงานมากขึ้น
      
       “งบประมาณรัฐเพิ่มให้มหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกัน ในปีการศึกษา 2558 นี้ มจธ. ร้อยละ 10 และบางแห่งได้เพิ่มร้อยละ 20-30 ขึ้นกับว่าแต่ละแห่งมีความจำเป็นต้องลงทุนอาคารใหม่หรือซ่อมแซมอย่างไร ซึ่งทางออกของ มจธ. คือ ปรับบุคลากรและวิธีการสอน ให้บริการวิชาการและทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อสอนเด็ก ขณะเดียวกันงานวิจัยทำให้อาจารย์มีความรู้เพื่อนำมาสอนเด็ก สอนมากกว่าในตำรา"


“มจธ.” เป็นเลิศหลังออกนอกระบบ สร้างโรงผลิตยาชีววัตถุช่วยชาติยามสงคราม


       


          วิธีนี้ทำให้เด็กได้ทั้งทฤษฎีและประสบการณ์จริงๆ จากอาจารย์ ซึ่งอยู่ในหลักคิด คือ เด็กจบออกไปแล้วต้องทำงานเป็น การทำงานวิจัยได้ทั้งความรู้และประสบการณ์แล้ว ยังมีเงินส่วนหนึ่งเพื่อกลับมาพัฒนาเด็กให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ในจุดนี้ คือ หัวใจสำคัญของการผลิตบัณฑิตในระดับอุดมศึกษา
      
       สร้างโรงผลิตวัคซีนช่วยชาติยามสงคราม
      
       ปัจจุบันทำให้มหาวิทยาลัยได้คนดีๆ เข้ามา และการออกนอกระบบทำให้มีอิสระทางวิชาการ สามารถสร้างผลงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม พิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเปรียบเทียบการเติบโตระหว่างการอยู่ในระบบ กับหลังจากออกนอกระบบ อันดับแรกคือ คุณวุฒิของอาจารย์สูงขึ้น มจธ. แต่เดิมเรามีอาจารย์ทางด้านปริญญาเอกประมาณ 19-20% ปัจจุบันเรามีอาจารย์ระดับปริญญาเอกมากกว่า 60%
      
       ส่วนนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ มจธ. ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ นี่คือผลลัพธ์ของการบริหารและจัดการในฐานะมหาวิทยาลัยในกำกับที่สามารถกำหนดทิศทางได้เองว่า จะสรรหาบุคลากรระดับไหนเข้ามาทำงาน เมื่อคุณภาพของคนดีจึงทำให้ผลงานวิจัยออกมาเป็นผลงานที่มีคุณภาพ และมีผลงานมากกว่าอัตราปกติ ผลงานวิจัยต่อหัวเกือบจะเรียกได้ว่าสูงที่สุดของประเทศ คือ จากในอดีตที่เป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ มีอาจารย์ก็น้อย ผลงานวิจัยก็ไม่มากนัก
      
       อาจารย์ธนิตสรณ์ จิระพรชัย ชี้ให้เห็นถึงผลงานวิจัยของ มจธ.ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการเติบโตและพัฒนาประเทศก ตัวอย่างเช่น มจธ. มีโรงงานผลิตยาชีววัตถุ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตวัคซีนแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งก่อนที่มจธ.จะออกนอกระบบ โครงการนี้ยังไม่มี และโครงการนี้ถือเป็น National security เพราะถ้าประเทศมีภาวะวิกฤตหรือยามสงครามก็ตาม โรงงานประเภทนี้จะมีความหมายมาก
      
       “มจธ.ไม่ได้มีคณะแพทย์ คณะเภสัชฯ ทำไมถึงมีโรงงานผลิตยา เพราะงานวิจัยเกี่ยวกับยามักจะอยู่ในคณะเภสัชฯ แต่ถ้าจะนำยาเหล่านี้มาขยายผลทางการผลิต (Scale up) เช่นจาก 5 CC ไปที่ 5 ลิตร 500 ลิตร ต้องใช้องค์ความรู้ทางด้าน Process Engineering ก็คือความรู้ทางด้านวิศวกรรมโดยตรง”




“มจธ.” เป็นเลิศหลังออกนอกระบบ สร้างโรงผลิตยาชีววัตถุช่วยชาติยามสงคราม

       


          ปัจจุบัน มจธ. มีโรงงานที่จะผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพออกมาได้ จึงเป็นมิติที่เปลี่ยนไป เป็นการต่อยอดในแง่ของ Production ส่วนใหญ่คณะหรือหน่วยงานที่ทำวิจัยเรื่องของยา จะไม่มีอุตสาหกรรมที่จะขยายสเกลออกมาจากห้องแล็บได้ แต่ในมหาวิยาลัยเราจะมีคนทำงานลักษณะนี้ เพราะทำงานใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก งานวิจัยจึงมีผลต่อการแข่งขันในตลาด และการเติบโตของประเทศ ผลงานด้านวิจัยนับตั้งแต่ปี 2541-2557 การเติบโตต่อหัวเดิม 0.14 ชิ้น/คน ปัจจุบัน 0.48/คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตที่เป็นนัยยะสำคัญหลายเท่าตัว จึงแสดงให้เห็นในแง่ทางวิชาการได้ว่าการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือการออกนอกระบบ จะทำให้เราสามารถดึงคนเก่ง คนดีมาทำงานได้มากขึ้น
      
       “มจธ.ยังมีงานวิจัยหลักอื่นๆ ที่ฉีกออกจากแนว Engineering แท้ๆ ซึ่งทำมาแต่เดิม ด้าน Bio Technology ซึ่งเป็นงานใหม่ หรือจะเป็นเรื่อง Food Science เรื่อง Renewable Energy (พลังงานทดแทน) เป็นต้น ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่เพิ่มมาจากวิศวะฐานราก คือ ไฟฟ้า เครื่องกล โยธา ในช่วงหลัง มจธ.มีผลงานวิจัยเมื่อเทียบต่อหัวอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าในอดีตมาก


“มจธ.” เป็นเลิศหลังออกนอกระบบ สร้างโรงผลิตยาชีววัตถุช่วยชาติยามสงคราม

       


          แต่ปัจจุบันเด็กจะเลือกเรียนในสาขาที่ตัวเองเห็นว่าจบแล้วมีงานทำ และสาขาใดของสถาบันเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ เป็นต้น
      
       “ปีที่ผ่านมาเด็กบางคนสอบได้วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ทั้งที่ ม.เกษตรฯ สจล.และ มจธ. ปรากฎว่าเด็กเลือกที่ มจธ.เพราะเด็กรุ่นใหม่เชื่อว่า มจธ.เก่งและเชี่ยวชาญกว่า”
      
      
       ดังนั้นจึงพบว่าตัวเลขการสมัครสอบตรงเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ มจธ.จึงมีแนวโน้มสูงกว่าที่ผ่านมาหลายเท่าตัว นั่นหมายความว่า เหตุผลการเลือกที่เรียนของเด็ก จะติดตามว่าข่าวสารมหาวิทยาลัยที่ใดมีชื่อเสียงบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเข้าเรียนต่อไป
      
       อาจารย์ธนิตสรณ์ ย้ำว่า การเพิ่มปริมาณเด็กที่เข้าเรียนในสถาบัน เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เพราะการที่เด็กมีจำนวนมากจะมีผลทำให้คุณภาพทางการศึกษาลดลง เนื่องเพราะอาจารย์จะไม่มีเวลาในการทำงานวิจัย “มจธ.” จึงเลือกที่จะใช้ความสำเร็จจากการบูรณาการบริการทางวิชาการ และการทำวิจัย เป็นฐานในการสร้างชื่อเสียงและพัฒนาการเรียนการสอนเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคมต่อไป



Credit     Manager

Read more at http://www.unigang.com/Article/27240#ilCKyl6HcrPFiIhe.99



No comments:

Post a Comment