ความสับสนระหว่างการศึกษานอกระบบ กับมหาวิทยาลัยออกนอกระบบฯ.
บ่ายวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘ ผมได้รับการติดต่อจากสถานีโทรทัศน์ใหญ่แห่งหนึ่ง ขอสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เรื่อง "การศึกษานอกระบบ" แต่เมื่อเริ่มคุยก็ถามว่า ผมมีความเห็นอย่างไรกับการที่ ครม. มีมติให้ผ่านร่าง พรบ. ให้มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบราชการ คุยกันไปสักครู่ผมก็รู้ว่านักข่าวคนนี้คิดว่า การศึกษานอกระบบ กับการที่มหาวิทยาลัยของรัฐออกไปอยู่นอกระบบราชการ เป็นสิ่งเดียวกัน
เธอถามว่า มหาวิทยาลัยออกนอกระบบฯ ดีหรือไม่ดี ผมตอบว่าดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ แล้วแต่ว่าบริหารจัดการเป็นหรือเปล่า หากจัดการเป็น การออกนอกระบบจะดี เพราะให้ความยืดหยุ่นและความเป็นอิสระในการดำเนินการ ซึ่งก็หมายความว่า ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต่อเจ้าหน้าที่ และต่อความเสี่ยงต่างๆ เองด้วย แต่หากบริหารไม่เป็น หรือใช้ความเป็นอิสระในทางฉ้อฉล ก็ไม่ดี
เธอถามผมว่า เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ มีคนกังวลกันว่า จะทำให้ค่าเล่าเรียนแพงขึ้น หรือไม่ ผมตอบว่า ทำไมคุณไม่ทำวิจัยเอาเองเล่า ว่ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันเก็บค่าเล่าเรียนกันอย่างไร กลุ่มที่ออกนอกระบบราชการไปแล้ว มีการขึ้นค่าเล่าเรียนปรูดปราดหรือเปล่า เพราะมีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกันไปหลายมหาวิทยาลัยในช่วงปี ๒๕๕๐ - ๒๕๕๑ น่าจะทำวิจัยหาข้อมูลจริงเอาไปบอกสังคมได้ ไม่ใช่ไปถามคนโน้นคนนี้ ซึ่งก็ตอบตามความรู้สึก แต่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง เธอตอบว่า เธอเข้าใจว่าต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่วิจัย ให้พวกเธอที่เป็นสื่อมวลชน เอาไปเผยแพร่ ไม่ใช่พวกเธอทำวิจัย เธอไม่รู้จัก investigative journalism
นี่คือนักข่าวคนหนึ่ง ของสถานีทีวีมีชื่อ
ช่วงเช้าวันเดียวกัน ผมไปร่วมประชุมกลุ่มสามพราน ที่มีการนำเสนอเรื่อง ปลุกพลังเปลี่ยนไทย Inspiring Thailand ที่หาทางรวมใจรวมพลังคนไทยและองค์กรทุกภาคส่วน เข้ามาทำเรื่องดีๆ ให้แก่สังคม โดยการจัดทำเป้าหมายร่วมแห่งชาติ ไม่รอรัฐบาล ไม่รอภาคราชการ มีการทำระบบฐานข้อมูลสนับสนุน และใช้สื่อสมัยใหม่ (social media) สื่อสารกันในสังคม แนวราบ อ. หมอประเวศ ย้ำว่า ต้องหาทางพัฒนาสื่อกระแสหลักด้วย เพราะสื่อมวลชนไทยอ่อนแอเหลือเกิน โดยต้องหาทางพัฒนาให้ทำ IJ – Investigative Journalism เป็น
ท่านที่สงสัยว่า "การศึกษานอกระบบ" หมายความว่าอย่างไร อ่านได้ ที่นี่
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน สภามหาวิทยาลัย..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/589208
No comments:
Post a Comment