Wednesday, 17 May 2017

จากมหาวิทยาลัยรัฐสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ : สาเหตุและผลกระทบ

จากมหาวิทยาลัยรัฐสู่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ : สาเหตุและผลกระทบ






ประเด็นปัญหาว่าด้วยการปฏิรูประบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง และยังถกเถียงกันไม่จบสิ้น ไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตามภาครัฐได้พยายามแก้ปัญหาทางลัด ด้วยการเสนอให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือที่เรียกขานกันด้วยถ้อยคำที่ดูคลุมเครือกว่าว่า มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ[1] การกระทำข้างต้นนี้เป็นมูลเหตุสำคัญที่นำไปสู่การต่อต้านและสนับสนุนจากบรรดาผู้เกี่ยวข้อง เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนและกล่อมเกลาทางสังคมในรัฐ รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้ส่งต่อและแลกเปลี่ยนแนวคิด ค่านิยม วัฒนธรรม และ องค์ความรู้จากชุมชนสู่เวทีโลก และจากเวทีโลกสู่ชุมชน ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชี่ยวกรากมหาวิทยาลัยจึงเปรียบเสมือนตัวกลางในการดำรงรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน และขณะเดียวกันก็เป็นผู้เชื่อมต่อชุมชนเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ 





ทว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งมิได้ทำหน้าที่ข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำรงรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน มหาวิทยาลัยกลายเป็นเพียงสถานที่ซึ่งอุดมไปด้วยตึกขนาดใหญ่ และสถาปัตยกรรมอันงดงามแต่ไร้จิตวิญญาณ เนื่องจากบรรดามหาวิทยาลัยหลายแห่งได้จำกัดบทบาทของตนเองให้เหลือเพียงหน่วยการผลิตตอบสนองโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยม และบทบาทดังกล่าวก็กำลังถูกทำให้ชัดเจนขึ้นด้วยการ ทำให้มหาวิทยาลัยรัฐกลายเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ





บทความนี้มุ่งนำเสนอประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยการสำรวจรากปัญหาของมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบัน ผ่านประวัติศาสตร์การก่อตัวของมหาวิทยาลัยในสังคมไทย เนื่องด้วยปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยประสบปัญหามากมาย และคาดว่าปัญหาเหล่านั้นจะซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ดังนั้นการทำความเข้าใจมหาวิทยาลัยผ่านมิติเวลาดังกล่าวจึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้การพิจารณาถึงปัญหาและการก่อตัวของมหาวิทยาลัยในสังคมไทยนั้นจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องโครงสร้างอำนาจโลก โดยเฉพาะโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำหนด เนื่องด้วยความคิดเรื่องการแปรรูปหน่วยงานที่รัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไปสู่มือเอกชน รวมทั้งความเชื่อที่ว่ากลไกตลาดสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จล้วนเป็นความคิดเสรีนิยมใหม่ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลักดันผ่านองค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจที่ตนสร้างไว้อันได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) เป็นต้น





กำเนิดมหาวิทยาลัยไทย


ช่วงศตวรรษที่ 18 ราว พ.. 2400 ในขณะนั้นโครงสร้างอำนาจโลกอยู่ภายใต้ Pax Britannica ผู้นำรัฐสยามจำต้องนำรัฐนาวาของตนปรับเข้ากับโครงสร้างดังกล่าวเพื่อดำรงรักษาอธิปไตยและอำนาจของตนไว้ เริ่มด้วยการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งเปิดภาคเศรษฐกิจของตนเข้ากับเศรษฐกิจโลกในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังจากนั้นชุดการปฏิรูปรัฐสยามเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ กระบวนการปฏิรูปดังกล่าวดำเนินไปอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อต้านกระแสล่าอาณานิคมด้วยการสร้างรัฐสยามให้มีความเป็นอารยะเท่าเทียมกับตะวันตก ความเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปที่เห็นได้ชัดคือ การเลิกทาสเพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานอิสระเข้าสู่ระบบตลาด และการปฏิรูประบบราชการเพื่อรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งในแง่หนึ่งก่อให้เกิดระบบสมบูรณญาสิทธิราชย์ที่แท้จริง[2] และการปฏิรูปดังกล่าวยังทำให้สยามกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีข้าราชการอาศัยเงินเดือนจากรัฐ แทนระบบเดิมที่อาศัยรายได้จากพื้นที่ระบบศักดินา





อย่างไรก็ตามการเลิกทาส และการปฏิรูประบบราชการได้ก่อให้เกิดความจำเป็นในการริเริ่มระบบการศึกษาสมัยใหม่ เพื่อฝึกความพร้อมให้แรงงานอิสระทั้งหลายในการเข้าสู่ระบบตลาดเสรี นอกจากนี้การศึกษาสมัยใหม่ยังมีจุดเน้นที่สำคัญคือระบบราชการ เนื่องด้วยระบบราชการต้องอาศัยข้าราชการสมัยใหม่ที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้านแบบตะวันตก ฉะนั้นการจัดการศึกษาแบบใหม่ให้ทันสมัยซึ่งเริ่มในราวพ..2411-2469 (ช่วงรัชกาลที่ 5-6) จึงเกิดขึ้นเพื่อสนองต่อสภาพแวดล้อมในขณะนั้นคือ เพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตกผ่านการทำประเทศให้ทันสมัย และกลไกสำคัญที่สุดซึ่งจะนำไปสู่การต่อต้านที่ประสบผลสำเร็จได้คือ ความเข้มแข็งของกลไกรัฐ ฉะนั้นวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาในสมัยนั้นจึงเน้นการผลิตบุคคลเข้าสู่ระบบราชการเป็นสำคัญมากกว่าการเตรียมความพร้อมให้แรงงานเข้าสู่ระบบตลาด ทั้งนี้การจัดการศึกษาสมัยใหม่ในช่วงเวลานั้นเป็นการยึดโยงกับคำว่าสมัยใหม่ซึ่งมีตะวันตกเป็นแม่แบบ ในส่วนนี้ไมเคิล ไรทมีทัศนะว่า การจัดการศึกษาของรัฐสยามน่าจะเป็นการยึดรูปแบบของอังกฤษที่ใช้อยู่ในอาณานิคมอินเดีย ซึ่งหมายความว่ารูปแบบการศึกษาดังกล่าวนั้นมุ่งสร้างบุคคลเพื่อรับใช้ระบบราชการของเจ้าอาณานิคม โดยเจ้าอาณานิคมมุ่งป้อนแต่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำราชการแต่ยับยั้งมิให้เยาวชนคิด หรือใช้จินตนาการ[3] ซึ่งอาจนำไปสู่การต่อต้านเจ้าอาณานิคม ฉะนั้นระบบการศึกษาไทยจึงมีรากเหง้ามาจากการป้อนข้อมูล แต่มิได้สอนให้นักศึกษาคิดเป็นซึ่งภายหลังประเด็นดังกล่าวกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของการศึกษาไทย ที่หลายฝ่ายพยายามแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆ 





นอกจากนี้ จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการจัดการศึกษาเน้นการผลิตบุคคลเข้าสู่ระบบราชการ ระบบการศึกษาจึงเน้นการตอบสนองความต้องการและเป็นเครื่องมือของรัฐ มิได้ให้ความสำคัญกับประชาชน


หลักฐานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนถึงความข้อนี้คือ ประวัติการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกนั้นสะท้อนถึงแนวความคิดการผลิตคนเพื่อสนองตอบรัฐอย่างชัดเจนดังนี้





"ในสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะขยายการจัดการศึกษาเพื่อผลิตนักเรียนไปรับราชการในกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ ไม่เฉพาะกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เมื่อวันที่ มกราคม พ.. 2453 พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า…………….. โดยมีการจัดการศึกษาใน โรงเรียน (คณะในปัจจุบัน) ได้แก่ โรงเรียนรัฏฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนคุรุศึกษา โรงเรียนราชแพทยาลัย โรงเรียนเนติศึกษา และโรงเรียนยันตรศึกษา"[4]





หลักฐานดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งคณะในมหาวิทยาลัยแห่งแรก เป็นสิ่งสะท้อนอย่างชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยมุ่งสนองหน่วยงานรัฐ ดังนั้นเพื่อการผลิตบุคลากรสนองภาครัฐ โครงสร้างในมหาวิทยาลัยทั้งการบริหารและกฎระเบียบต่างๆ จึงถูกหยิบยืมและนำมาประยุกต์ใช้ในมหาวิทยาลัย โดยไม่ต่างจากหน่วยราชการอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างดังกล่าวก็ยังเป็นแบบเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยโครสร้างแบบราชการที่มีขั้นการบังคับบัญชาจากบนลงล่าง และความเชื่อในเรื่องการบังคับใช้กฎระเบียบว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว การบังคับใช้กฎระเบียบหยุมหยิมต่างๆ ในมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดอย่างดาษดื่น ทั้งนี้ ผลของการศรัทธาในวิธีการดังกล่าวกลับทำให้เกิดบรรยากาศแห่งการจ้องจับผิดเรื่องระเบียบในมหาวิทยาลัยตลอดเวลา ผู้บริหารไม่กล้าริเริ่มทำอะไรโดยปราศจากคำสั่งผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้บรรยากาศดังกล่าวยังไม่เอื้อต่อการเป็นสังคมวิชาการที่แต่ละคนควรรู้จักคิด จินตนาการ โดยไม่ถูกพันธนาการด้วยกฎ และบรรยากาศที่น่าอึดอัด สภาพดังกล่าวส่งผลให้การทำงานในหมู่นักวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกันมิเกิดบรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตร เนื่องจากถูกกฎระเบียบบีบคั้น ทำให้ขาดความรัก ความจริงใจ ความเข้าใจต่อกัน แต่กลับจ้องที่จะจับผิดกันตลอดเวลา ซึ่งสุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือนักศึกษาซึ่งเป็นส่วนล่างสุดของโครงสร้างที่ถูกกดทับจากทุกภาคส่วนทั้งจากผู้บริหารและอาจารย์[5]





ครั้นรัฐสยามถูกเปลี่ยนนามเรียกขานเป็นรัฐไทย โครงสร้างสถาบันการศึกษาโดยเฉพะมหาวิทยาลัยก็ยังคงขาดความก้าวหน้าในเรื่องการทำงานเพื่อตอบสนองสังคม ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สถาบันอุดมศึกษาไทยมีการขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากบริบทของสงครามเย็น ซึ่งเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เครื่องมือด้านนโยบายต่างประเทศที่สำคัญอันหนึ่งของสหรัฐอเมริกาคือ ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (Free market system) สหรัฐอเมริกาต้องการสร้างตลาดเพื่อรองรับการลงทุนและสินค้าอันจะสนองต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากตลาดที่อ่อนแอและเสียหายในภูมิภาคเอเชียและยุโรปเสี่ยงต่อการที่ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมจะเข้าไปควบคุมได้ง่าย ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงต้องสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจของตนที่เรียกว่า "Economic Liberalism" อันประกอบด้วยหลักการเสรีทางการค้าลงทุนเพื่อเปิดตลาดให้รองรับกับทุนนิยมอันเป็นเสาหลักในอุดมการณ์ของสหรัฐอเมริกา ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐไทยได้เปิดรับกระแสการลงทุนของอเมริกัน และแนวคิดการพัฒนาโดยสหรัฐอเมริกาเป็นผู้วางแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยจึงเริ่มพัฒนาเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโดยอิงอาศัยทุนจากต่างชาติ ขณะเดียวกันบรรดากลุ่มทุนรายย่อยที่มีบทบาทในสังคมไทยมานานคือทุนจีนก็เริ่มปรับตัวเข้ากับระบบโครงสร้างเศรษฐกิจในสมัยสฤษดิ์ จากเดิมที่ทุนจีนจำกัดตัวเองอยู่แต่เพียงสาขาพาณิชยกรรม ทุนจีนก็เริ่มปรับตัวเข้าสู่สาขาหัตถอุตสาหกรรมซึ่งจำต้องใช้ทุนมหาศาลในการซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิต และสร้างโรงงานสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีซับซ้อนซึ่งบรรดาเถ้าแก่เหล่านี้ขาดทักษะความรู้ในการบริหารโรงงานสมัยใหม่ รวมทั้งการควบคุมเครื่องจักรที่มีความซับซ้อน[6]





ฉะนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานทักษะ (Skilled labor) และความต้องการไต่ระดับทางสังคมของกลุ่มชนชั้นใหม่ที่ได้รับอานิสงส์จากกลไกเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของพวกเขา รัฐไทยนับแต่สมัยสฤษดิ์เป็นต้นมาจึงเกิดการขยายการศึกษาขนานใหญ่ทุกระดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการบงการของที่ปรึกษาอเมริกันและกลุ่มเทคโนแครตไทยเพื่อตอบสนองโครงสร้างทุนนิยมทางเศรษฐกิจและนายทุน สถาบันการศึกษาที่เน้นความชำนาญเฉพาะด้านจึงขยายตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จนอาจเรียกได้ว่าเกิดภาวะมหาวิทยาลัยบูม กล่าวคือมหาวิทยาลัยมีการขยายไปตั้งตามภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังขยายขนาด และรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นอีกด้วย [7]





จากการพินิจประวัติศาสตร์การก่อตัวของมหาวิทยาลัยข้างต้นจะพบว่า มหาวิทยาลัยทำหน้าที่แต่เพียงสนองตอบต่อรัฐและนายทุน ทว่ามิเคยรับหน้าที่บทบาทในการสนองต่อความต้องการของชุมชนท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ ไปตั้งอยู่ ความข้อนี้สามารถศึกษาได้อย่างชัดเจนจากโครงสร้างหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่เป็นการลอกแบบองค์ความรู้แบบตะวันตกเป็นกระแสหลัก และมองข้ามความสำคัญขององค์ความรู้ในท้องถิ่นนั้นๆ รวมทั้งการวิจัยที่ก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์ก็มีปริมาณน้อยมาก หรือแทบมิมีเลย เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยต่างแข่งขันภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมยึดการจัดลำดับขั้นของมหาวิทยาลัย และเน้นผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถสร้างผลกำไรและชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยได้รวดเร็วกว่างานวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ซึ่งถือเป็นประโยชน์ของสังคมส่วนรวมในภาพรวม 





อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ดังกล่าวก็ดำรงอยู่เป็นระยะเวลานาน และบรรดาผู้เกี่ยวข้องต่างมิได้นำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูประบบมหาวิทยาลัย เมื่อพูดถึงการปฏิรูประบบมหาวิทยาลัยก็มักกล่าวอ้างถึงแต่เพียงมิติด้านการบริหารว่ามหาวิทยาลัยมีระบบการบริหารแบบราชการซึ่งขาดความคล่องตัวและไม่ตอบสนองต่อสภาพการณ์ปัจจุบัน จำต้องนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการและปรับปรุงให้มีการบริหารที่คล่องตัวมากขึ้น ความคิดครอบงำดังกล่าวทำให้เกิดการละเลยบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันทางสังคมซึ่งทำหน้าที่นำและรับผิดชอบต่อกิจกรรมทางสังคมต่างๆ 





ความพยายามในการปฏิรูประบบมหาวิทยาลัย


แนวความคิดเรื่องนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมีมาตั้งแต่พ.. 2507 โดยผู้บริหารและคณาจารย์ ของมหาวิทยาลัยได้ยื่นหลักการต่อจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น โดยจุดมุ่งหมายของบรรดาผู้บริหารและคณาจารย์คือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ด้วยสมัยนั้นเป็นยุคเผด็จการ การแทรกแซงที่รัฐมีต่อมหาวิทยาลัยจึงนำมาสู่การต่อสู้เพื่ออิสระเสรีภาพทางวิชาการ โดยพยายามนำมหาวิทยาลัยหนีออกจากกลไกรัฐ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ถึงกับเสนอให้รัฐออกพันธบัตรชนิดเปลี่ยนมือไม่ได้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยใช้ดอกเบี้ยสำหรับรายจ่ายประจำ เพื่อรักษาสถานภาพการศึกษาให้มั่นคงปราศจากการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก[8] อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวมิได้รับความเห็นชอบ จอมพลถนอมเพียงแต่ให้มีการจัดตั้งทบวงมหาวิทยาลัยขึ้นทำหน้าที่ดูแลมหาวิทยาลัยต่างๆ แทนสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งภายหลังทบวงมหาวิทยาลัยก็ถูกยุบรวมเข้ากับกระทรวงศึกษาธิการ โครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยจึงอยู่ภายใต้กฎหมายระเบียบของราชการเช่นเดิม ซึ่งทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน ความพยายามที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการจึงดำเนินเรื่อยมา[9]





อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างเรื่องโครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้กฎหมายระเบียบของราชการทำให้ขาดความคล่องตัวนั้น ในสมัยของอาจารย์ป๋วย การอ้างดังกล่าวเป็นไปเพื่อการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อนำมหาวิทยาลัยให้พ้นจากอำนาจเผด็จการ ทว่าปัจจุบันมีการหยิบยกข้ออ้างดังกล่าวมาใช้อีกโดยมิได้พิจารณาถึงสภาพแวดล้อมในขณะนี้ที่มหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็ง และอำนาจต่อรองกับรัฐมากขึ้น รวมทั้งภาคประชาชนเองก็มีบทบาทในการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพทางวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยด้วยการตระหนักถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการเลือกเสพงานวิชาการที่บรรดานักวิชาการในมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งต่างผลิตออกมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม





การนำประเด็นเรื่องมหาวิทยาลัยที่สังกัดรัฐจะมิสามารถพัฒนาตัวเองเพื่อตอบสนองสภาพสังคมในปัจจุบัน เนื่องด้วยระบบการบริหารแบบราชการขาดความคล่องตัวมาอ้าง เพื่อนำมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ โดยมีการรื้อโครงสร้างการบริหารงบประมาณรวมทั้งโครงสร้างการบริหารภายในจึงเป็นข้ออ้างที่ขาดตรรกะเหตุผลที่เหมาะสม ทั้งนี้ควรกล่าวด้วยว่ากระแสการปฏิรูปมหาวิทยาลัยระลอกสองที่ถูกจุดขึ้นเป็นประเด็นใหญ่หลงจากสมัยของอาจารย์ป๋วยนั้น มีสาเหตุและช่วงเวลาเริ่มต้นจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.. 2540 โดยรัฐไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจนจำต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)[10] การกู้ยืมดังกล่าวมาพร้อมกับเงื่อนใขคือเมื่อกู้แล้วจำต้องปฏิบัติตามรายการปรับปรุงโครงสร้าง (Structural Adjustment Program) ซึ่งรายการปรับปรุงโครงสร้างดังกล่าวนี้หมายถึงการปรับปรุงโครงสร้างภาครัฐโดยการรักษาวินัยทางการคลัง และการตัดเฉือนส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เป็นภาระทางการเงินของรัฐ เนื่องจากหน่วยดังกล่าวมิได้สร้างผลกำไรและมักก่อให้เกิดการขาดดุล (red ink) ในตัวเลขงบประมาณ 





นอกจากนี้การบริหารงานโดยรัฐยังมิก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด การบริหารหน่วยงานเหล่านั้นควรอยู่ใต้เอกชนซึ่งบริหารได้ดีกว่าตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่[11] ฉะนั้นนับแต่รัฐบาลทักษิณเป็นต้นมา ภาพการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบจึงปรากฎขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวเป็นการคิดที่ลืมระลึกถึงบทบาทความรับผิดชอบของรัฐที่มีต่อพลเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสวัสดิการทางสังคมอันเป็นสิทธิเชิงบวกที่พลเมืองพึงได้รับจากรัฐ





ความคิดเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐที่กลายมาเป็นวิวาทะรอบใหม่นี้ จึงเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนการแปรรูปสวัสดิการด้านการศึกษาให้ตกอยู่ในมือของเอกชนเป็นสำคัญ เมื่อมหาวิทยาลัยตกอยู่ในมือเอกชนก็ต้องคำนึงถึงการแข่งขันตามกลไกตลาดซึ่งเน้นเรื่องกำไรเป็นสำคัญ ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบย่อมก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงการศึกษาอาจไม่ต่างจากการซื้อบริการอย่างหนึ่งที่ผู้รับบริการจำต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อแลกซื้อความรู้ และมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องของกำไรย่อมมีระบบการคิดราคาค่าเทอมที่แพงกว่าเดิมซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัดมิให้บุคคลที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เข้ารับบริการด้านการศึกษา จนอาจกล่าวได้ว่า "สวัสดิการการศึกษามิใช่สวัสดิการที่ประชาชนพึงได้รับแบบให้เปล่า แต่การศึกษาเป็นเพียงสินค้าและบริการเช่นเดียวกับอาบอบนวด"[12]





เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ


นอกเหนือจากปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้นอันเป็นการปิดโอกาสประชาชนส่วนหนึ่งแล้ว การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบยังก่อให้เกิดปัญหาสำคัญอีกหลายประการ คือ การนำตัวออกจากห่างจากชุมชนสังคมที่ตั้ง, การรับใช้ทุนและการริดลอนสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ, การทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กร และคุณภาพมหาวิทยาลัยที่ตกต่ำ





มหาวิทยาลัยกับความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม


โดยธรรมชาติมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรทางสังคมที่แบกรับความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนบริเวณที่มหาวิทยาลัยนั้นตั้งอยู่ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่สั่งสมและสร้างความรู้จนมีความเข้มแข็งทางวิชาการที่สามารถสนองความต้องการของสังคมได้ นอกจากนี้รายได้ของมหาวิทยาลัยก็มาจากงบประมาณของภาครัฐซึ่งมีที่มาจากเงินภาษีของประชาชน เงินเดือนผู้บริหาร บุคลากร และอาจารย์ รวมทั้งค่าเทอมของนิสิตนักศึกษานั้นล้วนแต่เป็นภาระที่สังคมแบกรับทั้งสิ้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงปฏิเสธความผูกพันที่ตนมีต่อสังคมมิได้ 





ทว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยกำลังทำตัวห่างจากสังคมโดยเฉพาะชุมชนที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ หลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไม่ได้ตอบสนอง หรือนำองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมในชุมชนมาต่อยอดศึกษาเป็นองค์ความรู้ หลักสูตรการเรียนการสอนส่วนมากเป็นการลอกเลียนแบบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองใหญ่ของไทย หรือไม่ก็จากประเทศตะวันตก นอกจากนี้การตั้งเป้าเกณฑ์วัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัยมักอิงกับเกณฑ์ตัวเลขอัตราการมีงานทำของนิสิตนักศึกษา, การเปรียบเทียบจัดอันดับขั้นของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หรือจำนวนผลงานที่รับรางวัลในระดับชาติ การยึดแต่ตัวเลขดังกล่าวทำให้เกิดการละเลยสำนึกขั้นพื้นฐานของมหาวิทยาลัยในการรับใช้ชุมชนสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่วัดมิได้โดยตัวเลข[13] การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะยิ่งเป็นการนำมหาวิทยาลัยออกจากสังคม เนื่องจากงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐจะลดลง ทำให้มหาวิทยาลัยต้องหาเงินด้วยตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคมจะเหลือเพียงผู้ซื้อและผู้ขาย และสภาวะดังกล่าวจะนำไปสู่ปัญหาอีกประการคือ การรับใช้ทุนและการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ





การรับใช้ทุนและการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ


เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แม้รัฐจะยังคงให้การสนับสนุนด้านการเงินอยู่ทว่าการสนับสนุนดังกล่าวย่อมจะถูกตัดลดลงเรื่อยๆ ตามแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ดังที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นของบทความ เมื่อมหาวิทยาลัยจำต้องหาทุนด้วยตัวเองปรากฏการณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือการที่มหาวิทยาลัยเข้าไปรับใช้ทุนอย่างเข้มข้น (หลังจากรับใช้ทุนมาตั้งแต่สมัยสฤษดิ์) เนื่องจากบรรดานายทุนทั้งหลายเป็นแหล่งทุนที่สำคัญ เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นภาพของวงจรการรับใช้ทุนดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ในสหรัฐอเมริกามีการตั้งสถาบันสุขภาพแห่งชาติโดยรัฐ[14] จากนั้นรัฐก็ให้เงินภาษีก้อนหนึ่งจัดสรรเป็นทุนให้กับมหาวิทยาลัยนำไปทำวิจัย แล้วอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเอางานไปขายให้กับบริษัทยาได้ตามใจชอบ หลังจากนั้นบริษัทยาก็นำงานวิจัยดังกล่าวไปจดเป็นสิทธิบัตร กล่าวโดยสรุปงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ควรเป็นทรัพย์สินสาธารณะของสังคมกลายเป็นทรัพย์สินผูกขาดของนายทุนเอกชนแต่เพียงผู้เดียว ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าทุนเอกชนได้เข้าไปซื้อมหาวิทยาลัยเพื่อการเฉพาะบางอย่าง[15] ลองจินตนาการถึงภาพมหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่งสามารถคิดค้นยาต้านมะเร็งได้ ทว่าไม่สามารถนำผลวิจัยมาแถลงออกสู่สาธารณะเนื่องจากต้องรอบริษัทเอกชนมาซื้องานจดสิทธิบัตร เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยจำต้องหาทุนด้วยตัวเอง ภาพการนำตัวออกห่างจากสังคมและการรับใช้นายทุนน่าจะชัดเจนขึ้น 





นอกจากนี้ หากมหาวิทยาลัยมิสามารถแบกรับค่าใช้จ่าย หรือหาทุนได้เพียงพอกับการดำเนินงานก็จำต้องไปกู้ยืมแหล่งเงินทุนอื่นๆ อาทิ ธนาคาร ในจีน การปฏิรูปการศึกษาซึ่งเริ่มเมื่อศตวรรษที่แล้วส่งผลให้มหาวิทยาลัยรัฐต้องหาทุนในการดำเนินงานเองกว่า 50%[16] ผลพวงภายหลังที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปดังกล่าวคือมหาวิทยาลัยจำต้องแบกรับภาระหนี้สินจำนวนมหาศาล โดยกรณีที่โด่งดังที่สุดคือ มหาวิทยาลัยจี๋หลิน มหาวิทยาลัยจี๋หลินประสบปัญหาด้านการเงินเนื่องจากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนมิเพียงพอ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเองก็มิสามารถหาทุนสนองปริมาณนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น 





สาเหตุหนึ่งเนื่องจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งต่างแข่งขันภายใต้กลไกตลาดเสรีขยายมหาวิทยาลัยให้ใหญ่โตรองรับจำนวนนิสิตนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น เพราะจำนวนนิสิตนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นหมายถึงรายได้ งบประมาณมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จึงทุ่มไปกับการสร้างตึกและอาคาร รวมทั้งเงินเดือนจ้างบุคลากร ด้วยหวังว่าเงินเดือนที่มากขึ้นจะดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพ ฉะนั้นเมื่อการแข่งขันและเงินตรากลายเป็นประเด็นหลัก การเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาจึงกลายเป็นเรื่องรอง เมื่อเงินไม่พอสร้างอาคาร ก็จำต้องไปกู้กับธนาคาร จนเมื่อการแข่งขันสูง มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจึงตกเป็นลูกหนี้ธนาคารจำนวนมหาศาล มหาวิทยาลัยจี๋หลินติดค้างดอกเบี้ยธนาคารต่อปีถึง 150-170 ล้านหยวน (ประมาณ 750-850 ล้านบาท)[17]





ทั้งนี้ควรกล่าวได้ว่าเมื่อมหาวิทยาลัยตกเป็นของนายทุนแล้ว งานวิจัยรวมทั้งสิทธิเสรีภาพทางวิชาการของอาจารย์และนิสิตนักศึกษาย่อมถูกจำกัดไปด้วย การเดินขบวนประท้วงหรือการเขียนงานวิชาการที่ขัดต่อผลประโยชน์ของนายทุนที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยย่อมถูกขัดขวางด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ หากบริษัทแห่งหนึ่งจ้างคณะเกษตรของมหาวิทยาลัยวิจัยประดิษฐ์ยากำจัดศัตรูพืช ทว่าในภายหลังมีการวิจัยจากคณะทางด้านสังคมศาสตร์ถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตและชุมชนจากการใช้ยากำจัดศัตรูพืชดังกล่าวผลงานวิจัยในภายหลังย่อมพบอุปสรรคในการเผยแพร่ต่อสังคมภายนอก 





การทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กร


สืบเนื่องจากข้ออ้างที่หลายฝ่ายอ้างว่าระบบการบริหารแบบราชการขาดความคล่องตัว การออกนอกระบบจะทำให้มหาวิทยาลัยคล่องตัวมากขึ้นนั้น ประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตสำคัญคือ การอ้างว่าระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ นั้นโดยเฉพาะการจัดซื้อ จัดจ้างต้องทำเรื่องเสนอตามขั้นตอนราชการทำให้ขาดความคล่องตัวนั้น เป็นข้ออ้างที่ไร้ตรรกะเหตุผล อาจารย์เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรวิจารณ์ว่า "ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่นการซื้อขายเรื่องพัสดุนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องรอบคอบรัดกุมในการอนุมัติเบิกจ่ายเงินภาษีของประชาชนที่นำมาซื้อหรือเราต้องออกนอกระบบเพื่อที่จะให้ผู้บริหารเบิกจ่ายเงินถลุงเงินกันอย่างสนุกสนาน โดยไม่ต้องให้ใครมาควบคุมตรวจสอบ ถึงจะเรียกว่าความคล่องตัวอย่างนั้นหรือ?"[18]





นอกจากนี้ ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐที่ร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) มีการกำหนดบทพื้นฐานให้มหาวิทยาลัยสามารถควบรวมกันได้ นำทรัพย์สมบัติของมหาวิทยาลัยไปขายได้ เหมือนกับแนวคิดของรัฐบาลเรื่องการแปลงทรัพย์สินเป็นทุน แต่สำหรับมหาวิทยาลัยใช้คำว่า "เปิดเสรีทางการศึกษากระบวนการดังกล่าวเท่ากับการเปิดโอกาสให้อธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัยสามารถจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิทุกประการในมหาวิทยาลัยได้ อาทิ อสังหาริมทรัพย์จำนวนมหาศาลที่อยู่ในมือมหาวิทยาลัย[19]





ปัจจุบันมหาวิทยาลัยบางแห่งก็ประสบปัญหาเรื่องการจัดซื้อครุภัณฑ์ราคาแพงไร้คุณภาพ ชำรุดก่อนใช้งานเสียอีก หากออกนอกระบบแล้วปล่อยให้การจัดซื้อจัดจ้างคล่องตัว ปัญหาดังกล่าวจะมิยิ่งรุนแรงขึ้นหรือนอกจากนี้เพื่อลดค่าใช้จ่ายและภาระของมหาวิทยาลัย พนักงานระดับล่าง อาทิ พนักงานทำความสะอาดและยามรักษาความปลอดภัย ย่อมถูกปลดออก แล้วหันไปใช้ระบบรับเหมาช่วงโดยการประมูล[20] ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้มากเหมือนกับโครงการประมูลรับเหมาของรัฐต่างๆ ที่มีการทุจริตมากมาย





คุณภาพมหาวิทยาลัยที่ตกต่ำ


เมื่อมหาวิทยาลัยต้องพึ่งพิงทุนจากภายนอกและดำเนินการโดยอาศัยกลไกตลาดสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ คุณภาพมหาวิทยาลัยที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากการหารายได้เพื่อความอยู่รอดกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับมหาวิทยาลัย การลดค่าใช้จ่ายอาทิ งบประมาณในการจัดซื้อหนังสือก็จะลดลง อัตราตำแหน่งอาจารย์ก็จะลดลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้อาจารย์มีภาระงานมากขึ้น (แม้จะได้รับเงินเดือนมากกว่าเดิม) ขณะที่จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้ ทว่าจำนวนอาจารย์ลดลงหรือเท่าเดิม การเรียนการสอนในห้องหนึ่งอาจมีสัดส่วนอาจารย์ คนต่อนิสิต 200-300 คนทำให้ไม่มีโอกาสในการซักถาม[21]





การแข่งที่อิงกับการจัดลำดับขั้นมหาวิทยาลัยจะทำให้เกิดการออกกฎระเบียบประเมินอาจารย์โดยเน้นที่ปริมาณผลงานต่อปี ทำให้ที่สุดแล้วเกิดภาวะงานวิจัยเกร่อ อุดมด้วยปริมาณแต่ขาดคุณภาพและไม่สนองความต้องการท้องถิ่น นอกจากนี้การขายปริญญาและปรับหลักสูตรให้การเรียนการสอนง่ายขึ้นจะกลายเป็นภาวะที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทำให้คุณภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยตกต่ำ กล่าวคือ เพื่อหารายได้ให้กับมหาวิทยาลัย ฝ่ายบริหารก็จะวางแผนออกหลักสูตรโครงการปริญญาภาคพิเศษต่างๆ มากมาย ที่เรียนง่าย จบง่าย แต่มีค่าเทอมที่สูงเพื่อดึงดูดให้บรรดาผู้มีทุนทรัพย์แต่ขาดศักยภาพในการเรียนนำทุนมาให้มหาวิทยาลัย[22] ด้านหลักสูตรปริญญาตรีก็จะถูกทำให่ง่ายขึ้น มีการเรียนการสอนวิชาง่ายๆ ที่มิได้เน้นวิชาการ การใช้ความคิดวิพากษ์เข้มข้น อาทิ พลศึกษา การเสริมสร้างคุณภาพชีวิต การบริหารร่างกาย และการพัฒนาบุคลิกภาพเป็นต้น[23] เพื่อดึงดูดให้นิสิตนักศึกษาเข้ามาสมัครเรียน





สำหรับประเด็นเรื่องคุณภาพการศึกษานี้ เก่งกิจ กิติเรียงลาภมีทัศนะว่า


"คุณภาพการศึกษาน่าจะมาจากที่รัฐให้การสนับสนุนการศึกษาให้มากกว่านี้ เช่น ค่าเรียนต้องถูก มีทุนเรียนฟรีเยอะๆ มีสวัสดิการให้พนักงานหรืออาจารย์ ต้องไม่ทำให้เขารู้สึกไม่มั่นคงในการทำงาน และต้องไม่ทำให้อาจารย์สอนมากเกินไป เพราะทุกวันนี้อาจารย์สอนคนนึงต่อเทอมหลายวิชา ไหนจะต้องทำวิจัยอีก บริหารอีก ส่วนนักศึกษานั้นเมื่อค่าเทอมแพง ไม่มีทุนเรียนต่อก็ต้องไปสอนพิเศษ หางานทำมากขึ้น ซึ่งจากจุดเล็กๆ นี้เราจะเห็นเลยว่า มันไม่มีทางที่การศึกษาจะมีคุณภาพได้"[24]





ปัจฉิมกถา


การปฏิรูปการศึกษาซึ่งเป็นกระแสสากลที่ส่งอิทธิพลมาสู่สังคมไทยนั้น แม้จะมีการอ้างเรื่องโครงสร้างการบริหารที่ใหญ่เทอะทะและไร้ประสิทธิภาพ ทว่าในแง่หนึ่งกระแสการปฏิรูปนี้แฝงความคิดแบบเสรีนิยมใหม่เป็นแรงผลักดันเบื้องหลังดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ฉะนั้นการกล่าวอ้างว่ากระบวนเปลี่ยนมหาวิทยาลัยรัฐเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (Autonomy university) นั้นเป็นการแปรรูปสถาบันการศึกษาให้กลายเป็นเอกชนจึงมิใช่การกล่าวอ้างที่เกิดจริง สำหรับหลายฝ่ายที่อ้างเรื่องโครงสร้างนั้นแท้ที่จริงแล้ว ปัญหาที่หนักกว่าโครงสร้างการบริหารคือ เราจะทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยรับใช้สังคมได้อย่างแท้จริง? (หลังจากที่ถอยห่างจากสังคมมานาน) ส่วนความเชื่อที่ว่ากลไกตลาดสามารถทำงานได้ดีและจะนำไปสู่ประโยชน์สาธารณะได้ในที่สุดนั้น ความข้อนี้จำต้องพิจารณาโดยดูจากสภาพความเป็นจริงที่ว่ากลไกตลาดและความคิดแบบเสรีนิยมใหม่นี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา และวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2540





ความคิดแบบเสรีนิยมใหม่หรือการอิงกลไกตลาดนี้ เป็นความคิดที่อิงอยู่บนฐานเรื่องความเท่าเทียมกันทางโอกาส หรือความเท่าเทียมในการแข่งขันในระบบตลาดเท่านั้น อาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งยึดแนวความคิดดังกล่าวเสนอว่า "ค่าหน่วยกิตที่แพงขึ้น จะยิ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคม เพราะทุกวันนี้ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ จ่ายค่าเล่าเรียน ถูกกว่าต้นทุนที่แท้จริง"[25] อย่างไรก็ตามหากมองจากสภาพความเป็นจริง คนส่วนมากไม่สามารถแข่งขันได้ และคนเหล่านั้นก็ไม่สามารถแบกรับภาระค่าเทอมที่แพงได้ เนื่องจากพวกเขาอยู่ภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันกล่าวคือ หากเปรียบเทียบระหว่างแม่ค้าขายกล้วยปิ้งกับเจ้าของห้างพารากอน ใครจะสามารถส่งบุตรหลานเรียนในมหาวิทยาลัยได้โดยสะดวกปราศจากภาระมากกว่ากัน





นอกจากนี้ยังมีผู้กล่าวอ้างว่าการออกนอกระบบเปรียบเสมือนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในระบอบประชาธิปไตย ใครก็ตามที่ต่อต้านก็เหมือนพวกหัวโบราณ ความข้อนี้ควรนำมาตรึกตรองให้กระจ่างชัดอย่างยิ่ง องค์กรมหาวิทยาลัยไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับองค์กรภาคปกครองโดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่ามหาวิทยาลัยทำตัวห่างจากสังคมมานาน การเปลี่ยนโครงสร้างไปแต่ยังให้อำนาจกระจุกที่ผู้บริหารก็ทำให้ได้แต่หวังว่าเราจะได้ผู้บริหารที่เห็นความสำคัญของท้องถิ่นซึ่งเป็นไปได้ยากมากในภาวะที่มหาวิทยาลัยมุ่งแข่งขันในระบบตลาด ย่อมส่งผลให้เกิดการลอกเลียนแบบโดยมุ่งการจัดอันดับซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้ท้องถิ่นถูกละเลย นอกจากนี้โครงสร้างที่มาของผู้บริหารเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็มิได้มาจากการเลือกตั้งทางตรง แต่มาจากการ "สรรหา"[26] ฉะนั้นจะอ้างว่ามหาวิทยาลัยในกำกับรัฐเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยมิได้เลย 





สุดท้ายนี้ผู้เขียนในฐานะพนักงานข้าราชการสายวิชาการที่ปฏิบัติงานอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีสภาพเตรียมตัวออกนอกระบบ ด้วยการก้าวขาออกไปกว่าครึ่ง และได้พบสภาพปัญหาต่างๆ มากมาย แม้ทางมหาวิทยาลัยยังมิได้ออกนอกระบบอย่างเต็มที่ ขอเรียกร้องให้เพื่อนร่วมอาชีพ นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป โปรดคิดตรึกตรองและศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อย่าปล่อยให้ประเด็นนี้เป็นเรื่องของรัฐอย่างเดียวโดยที่ท่านมิได้สนใจ หรือเห็นแก่ผลประโยชน์ตนเองว่าจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเท่านั้น แล้วละเลยไม่ตระหนักถึงประเด็นอื่น รวมทั้งที่มาของเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นว่ามาจากการขูดรีดประชาชน 





เนื่องจากการปฏิรูปมหาวิทยาลัยครั้งนี้นับว่าเป็นจุดหักเหสำคัญของสังคมไทย ขอให้มองภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในจีน และมาเลเซีย หลังการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ[27] รวมทั้งภาพการประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและกรีซที่ประชาชนจำนวนมหาศาลออกมาเคลื่อนขบวนต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ[28] พึงระลึกเสมอว่ามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรทางสังคม การศึกษาเป็นสวัสดิการทางสังคมและสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่ขาดความรับผิดชอบและทำตัวออกห่างจากสังคมก็เป็นได้แต่เพียงอาคารสถานที่ปราศจากจิตวิญญาณ มหาวิทยาลัยจะเข้มแข็งก็ต่อเมื่อมีประชาชนเป็นผู้สนับสนุน และการสนับสนุนนั้นจะมีได้ก็ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยมิได้ทำตัวออกห่างจากสังคม













[1] คำเรียกขาน มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กับมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐซึ่งถูกนำมาใช้ ภายหลังเกิดกระแสต้านออกนอกระบบว่าเป็นการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบตลาด โดยเน้นบริหารงานแบบเอกชนนั้น ถ้าพิจนิจดูจะพบว่าการใช้คำเรียกทั้งสองดูขัดกันในที เมื่อแรกเรียกออกนอกระบบ(รัฐ) คำถามคือออกไปสู่ระบบอะไร? (เอกชนใช่หรือไม่ ด้วยข้ออ้างว่าโครงสร้างการบริหารงานไม่ตอบสนองสภาพความเป็นไปในปัจจุบันภายหลัง เมื่อถูกต่อต้านประโยคมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐจึงถูกประดิษฐ์ขึ้น เพื่อให้เกิดความประนีประนอม หรือเพื่อสร้างมายาคติว่ามิได้นำมหาวิทยาลัยไปสู่ระบบเอกชนเข้มข้น หากยังมีรัฐกำกับอยู่ ทว่าการใช้ มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ เองก็ดูจะขัดกับข้ออ้างดั้งเดิมที่ว่าระบบบริหารงานแบบราชการไร้ประสิทธิภาพ เมื่อไร้ประสิทธิภาพ ทำไมจึงยังต้องอยู่ในกำกับรัฐ? ปล่อยไปตามกลไกตลาดอย่างเข้มข้นจะมิดีกว่าหรือถ้อยคำ มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้แทน Autonomy university ในภาษาไทยนี้จึงแฝงไว้ด้วยความลักลั่นโดยตั้งใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่ามิได้นำมหาวิทยาลัยออกสู่ระบบตลาดซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริง 




[2] นับแต่อดีตพระราชอำนาจของกษัตริย์ถูกจำกัดด้วยการเมืองในราชสำนัก และระยะทางของพื้นที่หัวเมืองต่างๆ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ การปฏิรูประบบราชการแบ่งเขตการปกครองเป็นมณฑล รวมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่รัฐจากส่วนกลางไปปกครองส่วนภูมิภาคต่างๆ และเทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคมที่พัฒนาขึ้นคือ รถไฟ และไปรษณีย์ ทำให้กษัตริย์สามารถรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ดู Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and Decline of Thai Absolutism (<?xml:namespace prefix = st1 ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:smarttags" />New York: Routledge-Curzon, 2004).




[3] ไมเคิล ไรท, ไมเคิล ไรท มองโลก (กรุงเทพฯ มติชน, 2549), 125-126.




[4] "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย," [http://th.wikipedia.org/wiki/จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย], 1 September 2007.




[5] สมเกียรติ ตั้งนโม, "มหาวิทยาลัยไทยโดนไวรัส," [http://www.midnightuniv.org/midfrontpage/newpage33.html], 1 September 2007.







[6] สุวินัย ภรณวลัย, "พลวัตของทุนนิยมไทยก่อนทักษิโณมิกส์," [http://www.suvinai-dragon.com/pollawat.html], 1 September 2007.




[7] เบเนดิก แอนเดอร์สัน, "บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม," แปลโดย เกษียร เตชะพีระ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ [http://www.2519.net/newweb/doc/content1/36.doc], 1 September 2007.




[8] เมธา มาสขาว, "มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ไม่ใช่ทางออก," [http://www.oknation.net/blog/print.php?id=374], 1 September 2007.




[9] เกษม สุวรรณกุล, มหาวิทยาลัยออกนอกระบบคืออะไร อ้างใน "สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ," [http://th.wikipedia.org/สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ], 1 September 2007.




[10] "สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ," [http://th.wikipedia.org/สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ], 1 September 2007.




[11] แนวคิดเสรีนิยมใหม่นี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากแนวความคิดเศรษฐกิจแบบเคนส์ เสื่อมความนิยมเนื่องจากมิสามารถแก้วิฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1960-70 ได้ อย่างไรก็ตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่นี้มีความซับซ้อนกว่าแนวคิดเสรีนิยมเดิมคือ มีการควบคุมนโยบายทางสังคม แต่สนับสนุนให้กลไกตลาดทำงานในทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกเลิกกฎเกณฑ์ควบคุมต่างๆ และสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ช่วงทศวรรษ 1980 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โรนัลด์ เรแกนและนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มากาเร็ต แทตเชอร์ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้โดยการให้กลไกตลาดกลับเข้ามามีบทบาทหลัก และจำกัดบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจให้มีขอบเขตน้อยที่สุด โดยมนสหรัฐอเมริกาจะเรียกความคิดดังกล่าวว่า เสรีนิยมดั้งเดิมใหม่ (Neo conservatism) ส่วนในอังกฤษเรียกว่าเสรีนิยมใหม่ (Neo liberalism) โดยแนวคิดดังกล่าวตั้งอยู๋บนฐานแกนหลัก ประการคือ การลดกฎระเบียบ (Deregulation) การแปรรูปให้เป็นเอกชน (Privatization) และการเปิดเสรี (Liberalization) ต่อมาแนวคิดนี้ก็ได้รับการพัฒนาเป็นชุดนโยบายที่เรียกว่า "ฉันทมติวองชิงตัน" (Washington Consensus) ซึ่งได้รับการส่งผ่านไปยังประเทศที่พัฒนาที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจอาทิ อาร์เจนตินา และไทย ผ่านสถาบันที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สร้างจากระบบเบรตตันวูด (Bretton wood system) คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)




[12] วิทยากร บุญเรือง, "รายงาน นักศึกษากรีซเดินขบวนครั้งใหญ่ ประท้วง ม.นอกระบบ,"[http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=7087&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai], 1 September 2007.




[13] เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนกรณีดังกล่าวสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับการวัดค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ GDP ซึ่งเป็นเพียงตัวเลขที่มิได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงทางสังคม จะเห็นได้จากตัวเลขการเติบโตของ GDP จีนและอินเดียที่พุ่งสูงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ทว่าปัญหาสังคมนานาประการอาทิ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท และช่องว่างระหว่างเพศ กับเพิ่มมากขึ้นและมิได้รับการแก้ไข




[14] ควรตระหนักด้วยว่าการเมืองสหรัฐอเมริกาเองก็มีกลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลมากกลุ่มหนึ่งคือบรรดาบริษัทยาที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐ ความข้อนี้ปรากฎเป็นที่ชัดเจนจากกรณี CL ยาที่ไทยกำลังมีปัญหากับสหรัฐอเมริกา




[15] "สหรัฐฯกับ "สิทธิบัตรยาครองโลก," [http://www.thaipost.net/print.asp?news_id=141769&cat_id=200&post_date=4/May/2550] , 1 September 2007.




[16] Jimmy, "University autonomy becoming an international trend," [http://www.ocolly.okstate.edu/issues/2000_Spring/000410/stories/autonomy.html], 1 September 2007. 




[17] "Chinese universities amass huge debts as student enrollment, operating costs soar," [http://english.sina.com/china1/2007/0815/121812.html], 1 September 2007; "China to Tackle Financial Crisis in Universities," [http://www.china.org.cn/english/education/205301.htm], 1 September 2007; "Jilin University is crying for help from whom?," [http://readingchina.blogspot.com/2007/03/jilin-university-is-crying-for-help.html], 1 September 2007. 




[18] อมรรัตน์ ล้อถิรธร, "รายงานพิเศษ : "ออกนอกระบบเพื่อ "เซ็งลี้มหาวิทยาลัยหรือ?," [http://www.manager.co.th/asp-bin/PrintNews.aspx?NewsID=9490000151153], 1 September 2007. 




[19] Ibid.




[20]ใจ อึ๊งภากรณ์, "คัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ," [http://www.sarakadee.com/feature/2000/01/frame-vote.htm?/feature/2000/01/vote-object.htm], 1 September 2007.




[21] ความรู้มิได้งอกมาจากต้นไม้ หรือหล่นมาจากสวรรค์สู่แดนดิน ฉะนั้นหากมหาวิทยาลัยขาดแหล่งความรู้ที่ดี อาทิ ห้องสมุดที่มีวารสารและหนังสือที่มีคุณภาพย่อมทำให้มหาวิทยาลัยขาดบรรยากาศการเป็นชุมชนวิชาการ 




[22] วิทยากร บุญเรือง, "คุยกับ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ: เสรีนิยมใหม่ทำไมมันจึงเลวร้ายสำหรับการศึกษา?,"[http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6209&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai], 1 September 2007.




[23] ใจ อึ๊งภากรณ์, "บทความใจ อึ๊งภากรณ์: คัดค้านกลไกตลาดในมหาวิทยาลัย!!," [http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6129&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai], 1 September 2007.




[24] วิทยากร บุญเรือง, "คุยกับ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ: เสรีนิยมใหม่ทำไมมันจึงเลวร้ายสำหรับการศึกษา?,"[http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6209&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai], 1 September 2007.







[25] ทศพร ศิริสัมพันธ์, "สนับสนุนมหาวิทยาลัยนอกระบบ," [http://www.sarakadee.com/feature/2000/01/vote-support.htm], 1 September 2007.




[26] "หลักการกลางของมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ,"[http://www.mua.go.th/law_uni/%CB%C5%D1%A1%A1%D2%C3%A1%C5%D2%A7.doc], 3 September 2007.




[27] ดู Jimmy, "University autonomy becoming an international trend," [http://www.ocolly.okstate.edu/issues/2000_Spring/000410/stories/autonomy.html], 1 September 2007.




[28] วิทยากร บุญเรือง, "รายงาน นักศึกษากรีซเดินขบวนครั้งใหญ่ ประท้วง ม.นอกระบบ," [http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=7087&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai], 1 September 2007.





งานวิจัย ม.นอกระบบ พบบุคลากรไม่ปลื้มค่าตอบแทน


นาวาอากาศโท ดร.สุมิตร สุวรรณ  หัวหน้าภาควิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง "การจัดระบบเงินเดือนและสวัสดิการ เพื่อการพัฒนาองค์กรสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ: บทสะท้อนจากพนักงานมหาวิทยาลัยเผยผลการวิจัย ว่าจากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ใน 8 สถาบัน ได้แก่ มก. ม.ศิลปากร ม.นเรศวร ม.ราชภัฏนครปฐม ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ในส่วนของเงินเดือนขั้นต้น 54.8% ไม่พอใจ 43.0% พอใจ  เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ 41.6% พอใจ 33.8% ไม่พอใจ เงินเพิ่มพิเศษ 47.0% พอใจ 27.0% ไม่พอใจ เงินโบนัส 42.0% ไม่พอใจ 32.0% พอใจ การเลื่อนขั้นเงินเดือน 48.4% ไม่พอใจ 44.8% พอใจ เงินสวัสดิการ 60.9% ไม่พอใจ 35.9% พอใจ ส่วนที่เหลือไม่ตอบคำถาม



นาวาอากาศโท ดร.สุมิตร กล่าวต่อไปว่า ผลการวิจัยยังพบว่า มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบส่วนใหญ่ไม่ได้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ไว้ว่าเงินเดือนสายวิชาการได้ 1.7 เท่าของเงินเดือนแรกเข้าของข้าราชการปัจจุบัน สายสนับสนุน 1.5 เท่าฯ โดยเงินเดือนเริ่มต้นสายวิชาการ มก.อยู่ที่ 1.5 เท่าฯ ม.ศิลปากร อยู่ที่ 1.45 เท่าฯ ม.นเศวร อยู่ที่ 1.6 เท่าฯ ม.แม่ฟ้าหลวง 2 เท่าฯ และจุฬาฯ 1.55 เท่าฯ เป็นต้น ดังนั้นคณะวิจัยจึงเสนอแนวทางว่า การจัดระบบเงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัย ควรยึดมติ ครม.ที่ให้ไว้ สวัสดิการหรือผลประโยชน์ไม่น้อยกว่าระบบราชการ อาทิ มีการเลื่อนขั้นปีละ 2 ครั้ง ภายในกรอบวงเงิน 6% ตามผลการประเมินจากการปฏิบัติ งาน แบบ 360 องศา คือให้ทุกกลุ่มประเมิน ยกเลิกระบบประกันสังคม เป็นจัดสวัสดิการเอง มีกองทุนสวัสดิการการรักษาพยาบาลตนเอง บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร เป็นต้น ทั้งนี้คณะทำงานจะนำเสนอผลการวิจัยต่อสภาการศึกษาต่อไป

No comments:

Post a Comment