Tuesday, 7 June 2016

แผลกดทับ ปัจจัยเสี่ยง และการดูแลรักษา

แผลกดทับ ปัจจัยเสี่ยง และการดูแลรักษา 
 
 

รูป มาจาก: http://www.nursinghomesabuseblog.com/bedsores-pressure-sores- decubitus-ulcers/sepsis/bed-sores-not-just-a-pain-in-the-butt-but-an-uncontrolled-killer/




แผลกดทับก็คือบริเวณที่มีการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อจากการขาดเลือดอันเป็นผลจาการถูกกดทับเป็นเวลานาน ๆ แผลกดทับมักจะเกิดบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่เหนือปุ่มกระดูก เช่น บริเวณกระดูกก้นกบ กระดูกสะโพก ตาตุ่ม เป็นต้น
 


ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลกดทับ

1. การกดทับ โดยมีข้อสังเกตุดังนี้


   1.1 บริเวณที่มีกล้ามเนื้อมากจะทนต่อแรงกดทับได้ดี


   1.2 มีรายงานว่า แรงกดประมาณ 70 มม.ปรอท กดทับเป็นเวลา 1 - 2 ชั่วโมง ติดต่อกันจะทำให้เกิดการขาดเลือดขึ้น


   1.3 แรงกดจำนวนมากแม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็ทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อได้ เท่ากับแรงกดน้อยๆ แต่ระยะเวลานาน


   1.4 แผลกดทับมักพบในผู้ป่วยอัมพาตแบบ flaccid มากกว่าอัมพาตแบบ spastic



2. แรงไถและความเสียดทาน ซึ่งจะทำให้เกิดการปริแตกของเนื้อเยื่อได้ง่าย และมักจะพบในผู้ป่วยอัมพาตที่นั่งรถเข็น โดยเฉพาะเวลามีการเคลื่อนตัวบนรถเข็น

3. อุณหภูมิ ผลของการเพิ่มอุณหภูมิ จะทำให้มีการเพิ่มของเมตาบอลิสซึมของเซลล์ ส่งเสริมให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและตายได้ง่ายขึ้น


4. ความมีอายุ


5. ภาวะทางโภชนาการ การขาดโปรตีนจะทำให้การเสริมสร้างเนื้อเยื่อช้าลง ส่งผลให้แผลหายช้า พบว่าผู้ป่วยที่มีแผลควรได้รับโปรตีน 80 - 100 กรัม/วัน นอกจกนี้ภาวะความไม่สมดุลของไนโตรเจน แคลเซียม การขาดวิตามิน เหล่านี้ทำให้แผลหายช้าลง



6. การบวมน้ำ ซึ่งจะเป็นตัวขัดขวางการส่งผ่านอาหาร และออกซิเจนจากเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงเซลล์ ทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้น และหายช้าลงด้วย

7. ภาวะความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ


8. ปัจจัยอื่นๆ เช่นความชื้นจากเหงื่อ อุจจาระ ภาวะติดเชื้อเป็นต้น

บริเวณที่อาจเกิดแผลกดทับ





 
ร่างกายของผู้ป่วยขณะนอนน้ำหนักทั้งหมดของผู้ป่วยจะ กดทับลงในส่วนโปนของกระดูก จะเห็นบริเวณหลังและสะโพก เป็นส่วนที่มีความเสี่ยงที่สุดจากสถิติพบว่าผู้ป่วยที่ เป็นแผลกดทับบริเวณดังกล่าวมีจำนวนมากที่สุดด้วย
 


บริเวณที่อาจเกิดแผลกดทับ

1. ท่านอนหงาย บริเวณที่เกิดคือ ท้ายทอย ใบหู หลังส่วนบน ก้นกบ ข้อศอก ส้นเท้า


2. ท่านอนคว่ำ บริเวณที่เกิดคือ ใบหูและแก้ม หน้าอกและใต้ราวนม หน้าท้อง หัวไหล่ สันกระดูกตะโพก หัวเข่าปลายเท้า


3. ท่านอนตะแคง บริเวณที่เกิดคือ ศีรษะด้านข้าง หัวไหล่ กระดูกก้น ปุ่มกระดูกต้นขา ฝีเย็บ หัวเข่าด้านหน้า ตาตุ่ม


4. ท่านั่งนานๆ บริเวณที่เกิดคือ ก้นกบ ปุ่มกระดูกก้น หัวเข่าด้านหนัง กระดูกสะบัก เท้า ข้อเท้าด้านนอก


รูปประกอบมาจาก: http://www.cabotskincare.com/Uses/Bed-Sores/Pressure-Sores-Ulcers-more/




แผลกดทับแบ่งออกเป็น 4 ระดับ


ระดับที่ 1 เป็นรอยแดงของผิวหนัง

 ระดับที่ 2 ผิวหนังกำพร้าถูกทำลายหรือฉีกขาด [ Patial thickness] หรือมีการทำลายชั้นผิวหนังแท้เป็นแผลตื้นๆ


 ระดับ ที่ 3 มีการทำลายชั้นผิวหนังลึกลงไป แต่ไม่ถึงพังผืดหรือเอ็นยึดกล้ามเนื้อ เกิดเป็นแผลลึกแต่ไม่เป็นโพรง [ Full Thickness Skin Loss ]


ระดับที่ 4 มีการทำลายผิวหนังลึกลงไปจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ กระดูก หรือโครงสร้างของร่างกาย














รูปมาจาก: http://www.rims.edu.in/HealthCareCDACKolgksaha/Zoom-%20Skin%20Problems-%20Sores%20Bed-Sores%20Ankles%20Sores.html




การป้องกันแผลกดทับ และการพยาบาล


1. ดูแลพลิกตะแคงตัว เปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะในรายที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยจัดให้ตะแคงซ้าย ตะแคงขวา นอนหงาย นอนคว่ำกึ่งตะแคง สลับกันไปตามความเหมาะสม ควรใช้หมอนหรือผ้านุ่มๆรองบริเวณที่กดทับ หรือปุ่มกระดูกยื่น เพื่อป้องกันการเสียดสีและลดแรงกดทับ

2. ดูแลที่นอน ผ้าปูที่นอน ให้สะอาด แห้ง เรียบตึงอยู่เสมอ


3. ควรใช้ที่นอนที่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ที่นอนลม ที่นอนน้ำ ที่นอนฟองน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ที่นอนที่การระบายอากาศไม่ดี เช่น ที่นอนหุ้มพลาสติก


4. การยกหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ควรมีผ้ารองยก และใช้การยกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเกิดการเสียดสี


5. ดูแลผิวหนังผู้ป่วยให้สะอาด แห้งไม่อับชื้น เพราะถ้าผิวหนังเปียกชื้นหรือร้อนจะทำให้เกิดแผลเปื่อย ผิวหนังถลอกง่าย โดยเฉพาะอย่างภายหลังผู้ป่วยถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะแล้ว ต้องทำความสะอาดแล้วซับให้แห้ง และหากสังเกตพบว่าผู้ป่วยมีผิวหนังแห้งแตกเป็นขุย ควรดูแลทาครีมหรือโลชั่นทาผิวหนังที่ฉายรังสี


6. ดูแลให้ผู้ป่วยออกกำลังกายตามความเหมาะสม เพื่อให้กล้ามเนื้อ หลอดเลือด และผิวหนังแข็งแรง มีการไหลเวียนของโลหิตดี


7. ดูแลให้อาหารผู้ป่วยอย่างเพียงพอ คุณค่าทางโภชนาการครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนจำเป็นอย่างมากต่อผู้ป่วยที่มีแผลกดทับเพราะผู้ป่วย จะสูญเสียโปรตีนไปทางแผลทำนวนมาก นอกจากนี้ต้องดูแลให้วิตามิน ธาตุเหล็ก และน้ำอย่างสมดุลย์ด้วย


8. ดูแลทำความสะอาดแผลโดยวิธีปราศจากเชื้อ มีแนวทางปฎิบัติ ดังนี้


8.1 การทำความสะอาดแผลที่อยู่ในระยะงอกขยาย


- ควรล้างแผลเบาๆ ควรทำเฉพาะผิวหนังรอบๆ แผลเท่านั้น หลีกเลี่ยงการขัดถูแผล หรือล้างแผลด้วยแรงดันสูง เพราะจะทำให้สารอาหาร เซลล์ที่กำลังงอกขยาย รวมทั้ง Growth facter ถูกชะล้างออกไปด้วย


- น้ำยาที่ใช้ล้างแผลต้องไม่มีพิษต่อเซลล์ ได้แก่ น้ำเกลือนอร์มัล ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น Povidone - Iodine , Chlorhexidine, Dekin- solution, Hydrogen peroxide ไม่ควรใช้ในระยะงอกขยาย เพราะจะทำลายเซลล์ที่จำเป็นในซ่อมแซมแผล ทำให้แผลหายช้า


8.2 การทำความสะอาดแผลติดเชื้อหรือแผลเนื้อตาย


- ใช้การชะล้างแผลด้วยความดันสูง เพื่อขจัดเศษเนื้อตายและแบคทีเรีย


- ใช้น้ำยาทำความสะอาดแผล ( น้ำเกลือนอร์มัล) หรือน้ำยาฆ่าเชื้อล้างแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลติดเชื้อจากการปนเปื้อน


- กำจัดเศษเนื้อตายและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เพราะเป็นแหล่งให้แบคทีเรียเจริญได้ดี จึงควรตัดเล็บออกให้หมด และเซลล์ใหม่จะงอกขยายเจริญมาปกคลุมแผลได้ดี


- กำจัดช่องหรือโพรงที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง เนื่องจากช่องหรือโพรงมักมีสารคัดหลั่งจากแผลซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ดีของ แบคทีเรีย จึงควรทำการอุดช่องหรือโพรงอย่างหลวมๆ ด้วยก๊อสหรือวัสดุที่เหมาะสม


9. อธิบาย ให้คำแนะนำ รวมทั้งให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยและญาติ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการพริกตะแคงตัวและการทำความสะอาดแผล







แหล่งข้อมูล:Pressure Sores, http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/pressuresores.html
Bedsores (Decubitus Ulcers), http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/four-stages-of-pressure-sores
Bedsores (Decubitus Ulcers), http://www.drugs.com/health-guide/bedsores-decubitus-ulcers.html
แผลกดทับ - มหาวิทยาลัยขอนแก่น,http://home.kku.ac.th/ctham/ymeeting/y56/Roongtiva.pdf
ปรยา, การรักษาแผลกดทับ , http://www.oknation.net/blog/preedatower/2007/07/26/entry-2
การรักษาแผลกดทับ, http://www.memoryfoamthai.com/อาการป่วยจากที่นอน/การเกิดแผลกดทับและการดูแลรักษา.html
http://www.ens.ac.th/index.php/know/87-knowledge/95-2





































No comments:

Post a Comment