สอนลูกเรียนคณิตศาสตร์ด้วยลูกคิด ตอนที่ 1
ทำความรู้จักกับลูกคิด (พร้อมแบบฝึกหัด)
ลูกคิด….คำนี้คิดว่าหลายๆคนคงคุ้นเคยกันดีค่ะ ลูกคิดถือว่าเป็นคอมพิวเตอร์ประเภทแรกของโลกเลยก็ว่าได้ แต่แม่แอ๋วขอไม่เล่าประวัติลูกคิดแล้วกันนะคะเพราะเพื่อนสมาชิกสามารถหาข้อมูลอ่านได้ในเว็บอื่นๆ แม่แอ๋วขอเริ่มการสอนลูกคิดให้ลูกเลยดีกว่า
เนื่องจากตอนนี้ได้ส่งลูกชายไปเรียนลูกคิดและพอลูกเรียนอะไร แม่ก็ต้องเรียนตามและต้องทำได้ด้วยถึงจะสามารถสอนเสริมที่บ้านได้ด้วยตนเอง ดังนั้นแม่แอ๋วจึงรวบรวมข้อมูลที่ได้หามาและได้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อต่างๆมาไว้ในเว็บไซต์ค่ะ หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจค่ะ
ประโยชน์ของลูกคิด
พอพูดถึงลูกคิด หลายๆคนคงนึกถึงวิดีโอที่เด็กคิดเลขได้ไวปานสายฟ้าแลบ คิดได้เร็วกว่าเครื่องคิดเลขและบวกลบเลขหลายๆหลักได้ในใจ สำหรับแม่แอ๋วแล้ว การคิดเลขเร็วเป็นเพียงแค่ผลพลอยได้ของการเรียนลูกคิดเท่านั้นค่ะ นอกจากอยากให้ลูกคิดเลขได้ไวแล้ว ประโยชน์อีกอย่างที่แม่แอ๋วเล็งเห็นความสำคัญคือการพัฒนาและกระตุ้นสมองซีกขวาซึ่งเป็นสมองซีกที่ไม่ค่อยได้ใช้งานนักเมื่อเด็กโตขึ้นเนื่องจากคนส่วนใหญ่พอโตขึ้นมาสมองซีกซ้ายจะมีอิทธิพลและถูกใช้มากกว่า สมองซีกขวาเป็นสมองซีกอัจริยะดังนั้นหากได้รับการกระตุ้นให้ใช้งานได้เสมอก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เรียน การเรียนลูกคิดในระดับสูงคือเด็กต้องสามารถนึกภาพลูกคิดในหัวและคิดเลขผ่านลูกคิดที่อยู่ในหัวเขานั่นเอง นอกจากนี้การเรียนลูกคิดยังเน้นความไว ความแม่นยำ และสร้างสมาธิได้เป็นอย่างดี พ่อแม่หลายๆคนที่ส่งลูกไปเรียนลูกคิดจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกคือนั่งทำงานหรือเรียนได้นิ่งขึ้นและผลการเรียนวิชาอื่นก็ดีขึ้นด้วยเหมือนกัน
เริ่มต้นสอนเมื่อไหร่ดี
จากที่ได้ฟังมาจากแม่ๆที่ส่งลูกไปเรียนลูกคิด ที่เมืองไทยมีเริ่มกันตอน 3 ขวบนิดๆ แต่ครูที่โรงเรียนสอนลูกคิดของเจคอบเขาไม่รับเด็กเล็กเลยค่ะ ก่อนเข้าเรียนมีข้อสอบด้วยและเด็กต้องเขียนเลข 0-9 ได้ ต้องรู้จักตัวเลข 1-20 ก่อน เพราะเขาถือว่าการเรียนลูกคิดต้องใช้สมาธิในการเรียน เด็กเล็กเกินไปเรียนแล้วจะเด้งๆกันตลอด ไม่นิ่ง แบบนี้อาจจะไม่ค่อยได้ผลและเสียตังค์ฟรีๆ พ่อแม่คนไหนอยากส่งลูกเรียนแบบจริงๆจังๆ คลาสเด็กเล็กต่ำกว่า 4-5 ขวบ แม่แอ๋วมองว่าเป็นการค้าค่ะ ถ้าจะเรียนกันจริงจัง รอให้ลูกอายุสัก 5 ขวบอัพก่อน เด็กจะนั่งได้นิ่งและนานและเริ่มเรียนได้แบบจริงจัง ถ้าอยากสอนเด็กเล็กๆจริงๆ เราสอนเองที่บ้านก่อนก็ได้ ทำกันเล่นๆ สอนให้นับด้วยลูกคิด แฟรชการ์ดลูกคิด ไว้พอลูกพร้อมที่จะนั่งเรียนและฟังครูได้แล้วค่อยพาลูกไปเรียนแบบจริงจัง ถ้าลูกอายุแรกเกิดจนถึงประมาณ 3 ขวบ แม่แอ๋วแนะนำให้ใช้วิธีการกระตุ้นสมองซึกขวาผ่านการเเฟรชเร็ว (คลิกเพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติม)
อย่างไรก็ดี หากลูกเล็กวัย 3-4 ขวบของคุณเป็นเด็กนิ่ง สมาธิดี ชอบเรียนและนั่งฟังครูสอนหรือทำกิจกรรมได้นานๆ คุณก็สามารถพาลูกไปเรียนได้ แต่ละสถาบันน่าจะมีแบบให้ทดลองเรียนฟรีนะคะ
ทำความรู้จักส่วนต่างๆของลูกคิด
แม่แอ๋วขอใช้ terms ที่ลูกชายได้เรียนจากโรงเรียนนะคะ ไม่รู้ว่าเมืองไทยเรียกส่วนแต่ละส่วนว่าอย่างไร ขออนุญาตใช้คำศัพท์ที่ครูที่ UCMAS (โรงเรียนลูกคิดของลูกชาย) ใช้ในการสอนคณิตศาสตร์ให้ลูกชายค่ะ
ส่วนที่จะขอพูดถึงในวันนี้คือ units หรือหลักหน่วยก่อนนะคะ
- ลูกคิด 4 ลูกล่างมีค่าเป็น 1
- ลูกคิด 1 ลูกบนมีค่าเป็น 5
ทักษะเบื้องต้น
สิ่งที่คุณควรสอนเด็กในช่วงแรกคือ
- สอนให้เด็กจำจำนวนลูกคิดและรู้ว่าลูกคิดแค่ละรูปแทนจำนวนอะไร โดยการใช้บัตรคำหรือไฟล์ powerpoint พอเด็กเห็นลูกคิดแล้วก็จะบอกได้เลยทันทีว่าลูกคิดนี้แทนจำนวนอะไร
- หาซื้อลูกคิดมาไว้เพื่อสอนลูกที่บ้าน ลูกคิดที่ใช้ในการสอนเด็กคิดเลขไวเป็นลูกคิดของญี่ปุ่นชื่อ โซะโระบัง มีน้องบอกว่าซื้อได้ที่ไดโซะ
- ให้เด็กเขียนเลข 1,2,3,4,5,6,7,8,9,0 เป็นแถว โดยจับเวลา 1 นาทีว่าจะได้กี่แถว เทคนิคคือเด็กต้องเขียนให้เร็ว ให้ไว ถูกต้องแม่นยำ และต้องเขียนตัวเล็กๆถึงจะเขียนได้ไว
- หัดให้เด็กรู้จักกับหุ้นส่วนหรือ Little Friends ซึ่งคือเลขที่บวกกันได้ 5 นั่นเอง โดยให้เด็กเขียนตัวเลขตามนี้ค่ะ 41322314 ก่อนที่เด็กจะเขียนแถวเลขนี้ เด็กควรจะรู้ก่อนนะคะว่า 4+1=5, 3+2=5, 2+3=5 และ 1+4=5 พอเด็กเขียน 41322314 คล่องแล้วให้เริ่มจับเวลา
การกระตุ้นสมองซีกขวาด้วยการเเฟรชการ์ดจุดแสดงจำนวนอย่างรวดเร็วในแบบชิจิดะ
จากหลักการสอนของชิจิดะ การคำนวณได้อย่างว่องไวเหมือนเครื่องคิดเลขนั้นเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของขบวนการทำงานโดยอัตโนมัติของสมองซีกขวา คุณสามารถสอนลูกน้อยของคุณให้จำจำนวนจุดได้มากสุดถึง 100 จุด และในที่สุดลูกก็จะสามารถเรียนรู้ในการตอบโจทย์ที่มีความซับซ้อนได้ก่อนที่จะรู้หรือเข้าใจว่าคณิตศาสตร์คืออะไร
จากหลักการของชิจิดะ คนจำนวนมากเข้าใจประสิทธิภาพทางปัญญาของเด็กเล็กผิดไป โดยส่วนใจเชื่อว่าความสามารถนี้จะค่อยเติบโตเมื่อเด็กเริ่มสะสมความจำผ่านการเรียนรู้ ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และเรียนรู้ผ่านวิธีการอธิบาย เราทุกคนชอบคิดกันว่า การจำสิ่งต่างๆได้นั้นเป็นเพราะว่าคนเราได้ทำสิ่งนั้นๆซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเราเห็นเด็กเล็กอายุ 4-5 เดือนตอบโจทย์เลขได้ ทั้งๆที่จากดูจากความทรงทำแล้ว ไม่น่าจะทำอย่างนั้นได้ หรือเมื่อเรากำลังสอนโจทย์ผ่านการแสดงจุดให้ลูกหลังจากที่ลูกพึ่งเกิด คนก็ต่างจะพากันต่อต้านขับไล่แนวทางการสอนลูกแบบนี้
โดยเนื้อแท้แล้ว สมองของมนุษย์มีประสิทธิภาพในการทำงานได้ในระดับสูงเหมือนคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถทำให้คนเราคำนวณโจทย์ที่ซับซ้อนได้ด้วยความเร็วสูง กระบวนการนี้เป็นสิ่งที่สมองซีกขวาได้ “ออกแบบไว้ล่วงหน้าแล้ว” ไม่ใช่สิ่งที่มาเรียนรู้เอาทีหลัง มันจะทำงานโดยไม่มีความสัมพันธ์กับระบบความจำเลย
ขั้นตอน 3 อย่างสู่ความสำเร็จในการสอนลูกแบบใช้จุด
- ตอบคำถามได้ถูก 100% เมื่อมีการให้เลือกคำตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง
- สามารถเห็นคำตอบเป็นรูปภาพและสามารถเขียนตอบได้
- สามารถเชื่อมกับสมองซีกซ้ายได้
เมื่อลูกอายุได้ 3 ขวบ ให้พยายามพัฒนาความจำผ่านรูปภาพ การฝึกฝนการจำรูปภาพเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต้องมีการฝึกฝนอยู่เสมอเพราะความสันพันธ์ของสมองซีกซ้ายและขวาจะได้รับการสร้างอย่างมั่นคงผ่านการตอบโจทย์หลายๆข้อ ด้วยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ลูกคุณจะรักษาความสามารถในการคำนวณผ่านสมองซีกขวาไว้ได้ไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าไหร่แล้วก็ตาม
ข้อควรพิจารณาที่สำคัญสำหรับพ่อแม่
1. พ่อแม่ต้องมีความคิดเชิงบวก
หากลูกเลือกคำตอบผิด คุณก็เพียงแค่ให้ลูกดูคำตอบที่ถูกต้องและอ่านคำตอบที่ถูกต้องให้ลูกฟัง อย่าแสดงความผิดหวังเพราะการแสดงออกแบบนั้นจะส่งผลให้เด็กคิดว่า คุณกำลังคิดว่าลูกไม่สามารถทำได้ และจะทำให้ลูกคุณเครียดในที่สุด และการสอนแบบนี้จะไม่เป็นผลสำเร็จหากคุณคิดว่าลูกคุณไม่เข้าใจสิ่งที่คุณสอน
2. เลิกวิธีคิดแบบสมองซีกซ้าย
พยายามเลิกหาเหตุผลระหว่างการสอนและอย่าพยายามทำให้ลูกท่องจำ
3. มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก
ขอให้คุณสนุกกับการสอนลูก เมื่อคุณเสร็จจากการแฟรชบัตรแล้ว ให้กอดลูก และบอกลูกจากใจจริงว่า “ขอบคุณนะลูกที่ดูบัตรในวันนี้ แม่มีความสุขมากเลย”
4. ผ่อนคลาย
หากคุณเคร่งเครียดในระว่างรอบการแฟรชบัตร สมองซีกขวาของลูกคุณจะปิดตัวลง และเปลี่ยนหน้าที่การทำงานไปเป็นสมองซีกซ้ายแทน หากลูกคุณเครียด ลูกคุณจะไม่สามารถซึมซับข้อมูลได้ถึงแม้ว่าในตอนนั้นจะมองดูบัตรคำอยู่ก็ตาม
5. อย่าสงสัยในความสามารถของลูก
ขอให้คุณเข้าใจว่าการสอนจุดให้ลูกนั้นมันก็เป็นกระบวณการเดียวกันกับการเรียนรู้ภาษา เหมือนกันตรงที่ลูกคุณจะเริ่มเข้าใจภาษาก่อนที่จะพูดได้เสียอีก และนี่ก็เหมือนกันที่ว่าลูกคุณจะเข้าใจการสอนแบบจุดก่อนที่จะได้เห็นส่วนประกอบอื่นๆเสียอีก หากเราเปรียบเทียบการคำนวณกับหลักภาษา จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนอะไรเลย สำหรับเด็กเล็กนั้น จุดเป็นเรื่องง่ายและสนุก คุณเองก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับจุดนี้ด้วยนะคะ
ประโยชน์จากการสอนลูกด้วยวิธีจุด
- นอกจากการสอนผ่านจุดจะช่วยให้ลูกคุณมีความสามารถคำนวนได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังจะช่วยให้สมองลูกคุณทำงานแตกต่างออกไปโดยการกระตุ้นการเริ่มทำงานของสมองซีกขวา ในขณะเดียวกัน มันจะช่วยดึงพลังการจำข้อมูลเป็นรูปภาพของสมองซีกขวา ความสามารถเรื่อง ESP (Extra Sensory Perceptions –การที่คนเราสามารถรับรู้สิ่งต่างๆได้โดยไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ) พลังในการจำ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการคิดอะไรได้อย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ใช้เวลาในการสอนวันละสองสามนาทีเท่านั้นเอง
- การคำนวณผ่านจุดเป็นความสามารถของสมองซีกขวาซึ่งติดตัวเด็กทุกคนมาตั้งแต่เกิด เมื่อลูกคุณสามารถที่จะเปิดความสามารถทางธรรมชาติด้านการคำนวณได้ วิชาคณิคศาสตร์ก็จะกลายเป็นวิชาที่เรียนได้อย่างง่ายดาย
คำแนะนำในการสอน
หากลูกของคุณไม่มองดูจุด คุณควรจะประมวลบทเรียนของคุณใหม่ คุณเคยบังคับให้ลูกดูจุดหรือเปล่า คุณเคยพยายามให้ลูกดูบัตรจุดอันเดิมๆหรือเปล่า ขอให้จำไว้ว่าการทำอะไรซ้ำๆทำให้เด็กเบื่อ หากลูกเบนสายตาไม่ยอมดูบทเรียน ลูกก็กำลังส่งสัญญาณว่าลูกเข้าใจบทเรียนนั้นแล้ว และคุณสามารถข้ามไปขั้นต่อไปได้เลย หากลูกไม่ยอมมองจุดเลย ให้คุณหยุดบทเรียนนั้นไปสังสองสามเดือน แล้วค่อยเริ่มใหม่อีกที
การสอนแบบจุดนั้น ไม่ใช้การสอนให้จำ ดังนั้นจะทำแบบพักบ้างก็ไม่เป็นไร หลังจากการพัก ลูกก็จะกลับมาสนใจมองดูจุดอีกครั้ง เด็กทารกสามารถเรียนได้ภายในเวลาหนึ่งวินาที ดูเหมือนว่าเด็กจะไม่ได้มองดูจุดเลย แต่จริงๆแล้ว เด็กใช้เวลามองจุดแค่หนึ่งวินาทีก็สามารถเรียนรู้จุดได้แล้ว
ความแตกต่างของชิจิดะกับโปรแกรมอื่น
1. การเรียง และการสุ่ม VS การสุ่มอย่างเดียว
ชิจิดะเชื่อว่าสมองซีกขวาสามารถบันทึกรายการได้เป็นจำนวนมากและอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าของพวกนั้นจะมีการวางเรียงไว้ในลักษณะไหน
2. รูปภาพคณิตศาสตร์
รูปที่ใช้ควรจะมีรูปอื่นด้วย ไม่ใช่แค่จุดเพียงอย่างเดียว นี่จะช่วยรักษษความสนใจของลูกคุณและทำให้ลูกสนใจโปรแกรม
3. การใช้สีแดงเท่านั้น
สีแดง ไม่ใช้สีเพียงสีเดียวที่เหมาะสำหรับการสอนเด็กเล็ก เราสามารถใช้สีใดก็ได้ที่ตัดกันอย่างชัดเจนกับพื้นหลัง(สีขาว)
4. การจำข้อมูลได้เป็นจำนวนมากของสมองซีกขวา / ความสามารถในการคำนวณได้โดยธรรมชาติ
ชิจิดะเชื่อว่าการทำงานของสมองซีกขวาคือหัวใจของการสอนแนวนี้
5. การเร่งความเร็วของการป้อนข้อมูล
ชิจิดะใช้ประโยชน์จากความสามารถในการจำข้อมูลเป็นจำนวนมากของสมองซีกขวาโดยการแฟรชบัตรในอัตราความเร็ว 0.5 วินาทีต่อหนึ่งใบ
โปรแกรมนี้แบ่งออกเป็นขั้นตอนที่แตกต่างกันไป ซึ่งคุณทำตามได้ตั้งแต่ปีแรกเป็นต้นไป หน้าที่ของคุณคือการสอนหลักสูตร 65 วันให้ครบทั้งสี่รอบ คุณสามารถให้ลูกดูบทเรียนได้มากกว่าหนึ่งบทต่อวันแล้วแต่ความสนใจและสมาธิของลูกคุณ และคุณต้องพร้อมเสมอที่ต้องปรับโปรแกรมการสอนให้เหมาะกับลูก เปลี่ยนบทเรียนใหม่ทันทีที่ลูกคุณเริ่มเบื่อ
บทความข้างต้น แปลและเรียบเรียงมาจาก http://www.figur8.net
No comments:
Post a Comment